มีประเทศในกลุ่มยื่นขอความช่วยเหลือเงินกู้เพื่อพยุงฐานะเศรษฐกิจของประเทศ
เริ่มตั้งแต่ กรีซ, โปรตุเกส, สเปน, ไอร์แลนด์, และ ไซปรัส ประเทศล่าสุด
ประเทศที่ขอความช่วยเหลือทางการเงินเหล่านี้
ประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
อาศัยเงินกู้ที่กลุ่มประเทศยูโรโซนซึ่งมีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นแกนนำ
นำมากลบโปะงบประมาณที่ขาดดุลอย่างต่อเนื่องมานาน ในที่สุดก็ถึงจุดสิ้นสุด นั่นคือ
เจ้าหนี้ยื่นเงื่อนไขให้ทำตาม หากต้องการเงินกู้งวดใหม่
เงื่อนไขสำคัญที่ประเทศผู้ขอกู้จะได้รับเงินกู้ช่วยเหลืองวดใหม่ ที่เจ้าหนี้กำหนดก็คือ
ต้องตัดทอนงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลงไปให้ได้ตามเป้าหมาย
การตัดทอนงบประมาณของรัฐลงให้ได้ตามเป้าหมาย หมายถึง การเลิกจ้างงาน
การตัดทอนการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ
รวมถึงการตัดทอนเงินสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐ ส่งผลทำให้คนจำนวนมากตกงาน
สวัสดิการที่เคยได้รับอย่างสุขสบายถูกตัด ถูกยกเลิก
ทำให้คนที่เคยอยู่สุขสบาย ลำบาก ไม่สุขสบายอีกต่อไปแล้ว
ประชาชนในประเทศกรีซ โปรตุเกส สเปน ตกงานว่างงานเป็นจำนวนมาก
จึงรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดที่มีออกมา
เห็นได้จากข่าวที่ปรากฏในกรีซและสเปน
ในเวลานี้ที่มีประชาชนรวมตัวประท้วงรัฐบาลไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง
พลังประท้วงของประชาชนในประเทศดังที่ได้กล่าวมา มีพลังอำนาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาล
ในอันที่จะต้องทำตามข้อเรียกร้อง
![]() |
Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมัน |
ในเวลานี้ นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมัน
ในฐานะพี่เอื้อยใหญ่ของกลุ่มประเทศยูโรโซน
กำลังเผชิญกับสภาวะความกดดันอย่างหนักอยู่ทั้งสองด้าน
ด้านหนึ่งความกดดันที่มาจากประเทศรอรับความช่วยเหลือเงินกู้
ที่ขอให้เยอรมันพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ/เงื่อนไขการให้เงินกู้
เพื่อประเทศเหล่านั้นสามารถนำไปเจรจาต่อรองกับประชาชนที่ประท้วงเรียกร้อง
ความจริงประเทศที่ขอความช่วยเหลือเงินกู้งวดใหม่ที่ว่านี้
ได้เจรจาต่อรองขอผ่อนปรนเงื่อนไขกับเยอรมันมาก่อนหน้านั้นแล้ว
แต่นางแมร์เคิลไม่ยอมตกลงด้วย ยังยืนยันในเงื่อนไขเดิม
หากอยากได้เงินกู้งวดใหม่ ต้องทำตามเงื่อนไขเท่านั้น
กลุ่มประเทศยูโรโซน ได้จัดประชุมเรื่อง
การให้ความช่วยเหลือให้เงินกู้แก่ประเทศที่ร้องขอเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายรอบแล้ว
ในที่ประชุมครั้งหลังๆ นางแมร์เคิลมีท่าทีอ่อนลง
ขณะเดียวกัน ความกดดันอีกด้านหนึ่งมาจากประชาชนชาวเยอรมันเอง
เวลานี้ชาวเยอรมันรวมตัวประท้วงรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลให้การดูแลประชาชนของประเทศมากกว่า
ที่จะนำเงินภาษีของชาวเยอรมันไปทุ่มเทช่วยเหลือชาติอื่น
การที่เยอรมนีต้องนำเงินจากกองทุนยูโรโซน ส่วนหนึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนชาวเยอรมัน
ไปช่วยประเทศที่ร้องขอความช่วยเหลือรวมแล้วหลายประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่สมควร
ประเทศที่ก่อปัญหาหนี้สินควรจัดการช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่ให้คนชาติอื่นที่ไม่เกี่ยวรับหน้าเสื่อแทน
นางแมร์เคิล ผู้มีวัย 58 ปี หากไม่ฟังเสียงประชาชนในประเทศ
การเลือกตั้งครั้งหน้าในเยอรมนี คาดว่าจะมีขึ้นในปลายปีหน้า
คงย่อมมีเสียงต่อต้านคัดค้านไม่ใช่น้อย ทำให้อาจไม่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้นำประเทศอีกในสมัยหน้า
ทำให้นางแมร์เคิลต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยูโรโซนที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้
ส่งผลกระทบไม่ใช่แต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจตามที่เห็นเท่านั้น
ยังส่งผลกระทบต่อทางการเมืองในประเทศเหล่านี้
ดังจะเห็นได้จากที่มีรัฐบาลในประเทศยุโรป "พังพาบ" ไปแล้วหลายประเทศ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ที่มา : คอลัมน์: ต้นซอยวิภาฯ ๓๘: / หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น