5 กรกฎาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์

นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรปวันพฤหัสบดีนี้ (5 ก.ค.)
คาดจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 0.25-0.5%
หลังข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดแสดงตัวเลขว่างงานพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุด
ขณะที่ภาคการผลิตชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี

เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า
เวลานี้ความสนใจถูกเปลี่ยนมาอยู่ที่บทบาทของธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี
ในการช่วยนำพายูโรโซนออกจากวิกฤติหนี้ที่กำลังรุมเร้า
หลังจากที่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนที่ประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป
เห็นชอบให้อีซีบีรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลธนาคารพาณิชย์ทั่วยุโรป
พร้อมกับเห็นชอบตามแนวคิดของ นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี 
ให้นำเงินจากกองทุนช่วยเหลือเข้ามาปรับโครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาได้โดยตรง
โดยไม่ต้องผ่านการกู้ยืมของรัฐบาล

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในการประชุมสัปดาห์นี้ อีซีบีไม่น่าจะออกมาตรการช่วยเหลือธนาคารหรือรัฐบาลโดยตรง
เช่นการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาด
แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าอีซีบีจะตอบสนองต่อข้อมูลทางเศรษฐกิจของยุโรปที่ย่ำแย่ลง
ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรก

การลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ของประเทศในยูโรโซนที่พึ่งพาการกู้ยืมเงินจากอีซีบี
ขณะเดียวกันสำหรับประเทศที่สินเชื่อจำนอง
และสินเชื่อสำหรับผู้บริโภค และธุรกิจอื่นๆ ผูกติดกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น อาทิ ไอร์แลนด์และสเปน
การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้ต้นทุนกู้ยืมของภาคเอกชนลดลง เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ในระดับหนึ่ง

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอัตราการปรับลดดอกเบี้ยจะอยู่ที่อย่างน้อย 0.25% มาอยู่ที่ 0.75%
แต่จากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า...
มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลงถึง 0.5%
(อ่านต่อคลิกด้านล่าง)


"สภาพการณ์แวดล้อมเป็นลบมากเพียงพอที่จะปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 0.5% 
เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นอย่างมาก"
จูเลียน แคลโลว์ นักเศรษฐศาสตร์ยุโรปจากบาร์เคลย์ส ให้ความเห็น


สำนักงานสถิติยุโรปเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 ก.ค.)
ระบุว่าอัตราการว่างงานในยูโรโซนเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นถึงระดับ 11.1% หรือ 88,000 ล้านคน
ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน
โดยในสเปนตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ 24.6% และมีแรงงานอายุต่ำกว่า 25 ปีเกินกว่า 52% ที่ไม่มีงานทำ
ขณะที่การว่างงานในฝรั่งเศสสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนในเยอรมนีตัวเลขคงที่อยู่ที่ 5.6%


คาร์สเทน เบอร์เซสกี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอเอ็นจี กล่าวว่า
ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในยูโรโซนอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
ยกเว้นในเยอรมนีที่การว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ความเชื่อมั่นในเยอรมนีเองก็กำลังลดลง
เห็นได้จากข้อมูลของภาคการผลิตล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่หดตัวลงสูงที่สุดในรอบ 3 ปี

"จะเป็นเวลาอีกไม่นานที่ยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ" เบอร์เซสกี กล่าว

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของภาคการผลิตในยูโรโซนวัดโดยบริษัทมาร์คิตฯ อยู่ที่ 45.1
ในเดือนมิถุนายน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 3 ปี
โดยพีเอ็มไอของเยอรมนีลดลงเหลือ 45
ขณะที่ในสเปนพีเอ็มไอลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 41.1

นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองว่า
อีซีบีจะทำอย่างไรกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับเงินที่ธนาคารนำมาฝากไว้กับอีซีบี
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75%
แต่มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนน้อยเชื่อว่าอีซีบีจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเหลือ 0%
แม้ว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.75% ก็ตาม

อีซีบีคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1% มาเกือบตลอดปี 2552 และ 2553
และตัดสินใจปรับขึ้นไปเมื่อช่วงต้นปีก่อน ก่อนที่จะปรับลดลงมาเหลือ 1% อีกครั้งในเดือนธันวาคม
พร้อมกับประกาศมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 3 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์มองว่าผลจากการปรับลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้อาจจะมีจำกัด

"อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะไม่นำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน 
มันเป็นเพียงปลาสเตอร์ปิดแผลเท่านั้น" เบอร์เซสกี กล่าว


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,754   5-7 กรกฎาคม  พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น