โดยสกุลยูโรปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 วัน (วันพุธ)
หลังจากนายเอวัลด์ โนวอตนี กรรมการสภาบริหารของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า
อาจมีการให้ใบอนุญาตด้านการธนาคารแก่กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพ (ESM)
ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือถาวรของยูโรโซน อาจสามารถขยายวงเงินปล่อยกู้ได้
หากกองทุน ESM ได้ใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคาร ซึ่งจะทำให้ ESM เข้าถึงเงินกู้ของธนาคารกลางยุโรปได้
แม้นช่วงนี้ยังไม่มีข่าวลบใหม่ๆ ในยุโรปออกมาทว่าก็ต้องจับตาดู
ประเด็นของกรีซนั้นต้องรอถึงต้นเดือน ส.ค. จึงจะทราบผลการตรวจสุขภาพเศรษฐกิจจากทรอยก้า
ขณะที่สเปนนั้นพบว่าดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ลดลงแรงเมื่อวานจากระดับสูงสุดของวันที่ 7.75% สู่ 7.38%
หลังจากมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ ECB ผลักดันให้มีการให้ใบอนุญาตต่อกองทุน ESM ให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารได้
ซึ่งเรื่องนี้ในระดับพื้นฐานแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และต้องใช้เวลา
แต่ในระดับจิตวิทยาแล้วถือว่าเป็นบวกต่อตลาด
นอกจากนี้น่าจะมีแรงเก็งกำไรสินทรัพย์ทางการเงินโดยรวมบ้าง
ก่อนหน้าการประชุมของธนาคารกลางใหญ่ 2 แห่งในสัปดาห์หน้า
ได้แก่ US FOMC ในวันที่ 1 ส.ค. และ ECB ในวันที่ 2 ส.ค.
ด้านสหรัฐฯ หลังจากที่ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือน มิ.ย. กลับมาร่วงลงเกินคาด
ยิ่งเพิ่มความหวังให้กับนักลงทุนที่คาดว่าเฟดอาจจะพิจารณาเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพื่อเข้ามาหนุนเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ได้
นักลงทุนเริ่มมีการเก็งกำไรและพูดถึงเรื่องมาตรการการเงินพิเศษของเฟดที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการอัดฉีดเหมือน QE1 และ QE2
ขณะที่เริ่มมีความหวังว่าเฟดอาจนำมาตรการอัดฉีดช่วยเหลือมาใช้ภายในการประชุมในสัปดาห์หน้านี้
ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญประจำวันนี้
• ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนี GfK เวลา 13.00 น.
• ตัวเลขยอดค้าปลีกในอิตาลีรายเดือน เวลา 15.00 น.
• สุนทรพจน์ประธาน ECB เวลา 16.30 น.
• ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานสหรัฐฯ เวลา 19.30 น.
• ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯ เวลา 19.30 น.
• ยอดทำสัญญาขายบ้านสหรัฐฯ เวลา 21.00 น.
วันนี้ประมาณ 21.00 น. ยังคงจับตาดูการแถลงการณ์ของ
นายไกธ์เนอร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอเมริกาในหัวข้อเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน
โดยการแถลงการณ์ดังกล่าวน่าจะสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนได้บ้าง
นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ (ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ) |
ส่วนเมื่อวาน
นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า
วิกฤตหนี้ยูโรโซนและภาวะชะงักงันทางการเมืองของสหรัฐฯ ในประเด็นนโยบายการคลัง
จะเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงินและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
“วิกฤตยุโรปที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจของเรา"
นายไกธ์เนอร์ยังแถลงต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
เกี่ยวกับรายงานประจำปีของสภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (FSOC) ต่อสภาคองเกรส ว่า
“การขยายตัวที่ชะลอลงของสหรัฐอาจจะรุนแรงมากขึ้น
จากความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีและการลดรายจ่ายที่กำลังจะมีขึ้น
และจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปนโยบายภาษี
และการใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการหนุนความรับผิดชอบทางการคลัง"
เขายังกล่าวเตือนสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า
"ความล้มเหลวในการดำเนินการปฏิรูปให้ทันเวลาและในแนวทางที่น่าเชื่อถือ
จะสร้างความเสียหายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคต..."
สำหรับระบบการเงินสหรัฐฯ โดยรวมนั้น นายไกธ์เนอร์กล่าวว่า
"ภัยคุกคามที่มีความเป็นไปได้ดังกล่าวได้ตอกย้ำถึงความจำเป็น
ที่จะผลักดันให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูความเสียหาย
จากวิกฤติการเงินและในการปฏิรูปเพื่อทำให้ระบบการเงินมีความแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว..."
** สภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน FSOC **
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายปฏิรูปการเงินดอดด์-แฟรงก์
และมีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงและส่งเสริมวินัยทางการเงินของตลาด
โดย FSOC ได้เสนอแนะให้ปรับปรุงความมีเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯ
รวมทั้งสนับสนุนให้มีการให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง
ในการสร้างความแข็งแกร่งต่อการสำรองเงินทุนและการทดสอบภาวะวิกฤต
ด้านญี่ปุ่น
นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า
ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นอาจขาดทุน 13.3 ล้านล้านเยน (1.7 แสนล้านดอลลาร์)
เมื่อพิจารษจากการประเมินยอดขาดทุนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล
หากอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2% จากระดับในปัจจุบัน
คำเตือนของผู้ว่าการบีโอเจมีขึ้นท่ามกลางกระแสคาดการณ์ในวงกว้างว่า
ญี่ปุ่นอาจเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะในลักษณะเดียวกับยุโรป
เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงกว่าในประเทศยูโรโซนบางประเทศ
ในขณะที่งบประมาณของญี่ปุ่นยังไม่มีความยั่งยืน
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น