ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรป ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่กรุงบรัสเซลส์
โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ
ซึ่งบรรดาผู้นำยุโรปได้เห็นชอบร่วมกันในการประชุมเดือนที่แล้วว่ามีคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังยุโรปประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือสเปนและไซปรัส
รวมถึงหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรีซ โดยการประชุมครั้งนี้
มีขึ้นท่ามกลางความไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการกู้วิกฤตที่ที่ประชุมอียู ซัมมิท
ได้ประกาศรับรองเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศได้ขู่ที่จะโหวตคัดค้านมาตรการเหล่านี้
ซึ่งรวมถึงการเปิดทางให้สามารถจัดสรรเงินในกองทุนช่วยเหลือภูมิภาคได้ง่ายขึ้น
และการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารในภูมิภาค
สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศ
จะประชุมกันในวันนี้ (9 ก.ค.) ที่กรุงบรัสเซลส์ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ตามเวลาไทย
โดยรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) จะหารือกันถึงแผนการในการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ยูโรโซน
แต่มีแนวโน้มว่าการประชุมกันในครั้งนี้
อาจเป็นการตอกย้ำถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ในข้อตกลงของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู)
ในเดือน มิ.ย.ในการช่วยเหลือรัฐบาลและธนาคารที่มีหนี้สูงในยูโรโซน
ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่ายูโรโซนจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน
ในการบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในเรื่องการกำกับดูแลภาคธนาคาร,
การใช้เงินของกองทุนคุ้มครองยูโรโซน, การให้ความช่วยเหลือแก่สเปนและไซปรัส
และในการตัดสินใจว่าจะยอมประนีประนอมกับกรีซหรือไม่
ถึงแม้ยูโรโซนได้รับแรงกดดันมากยิ่งขึ้นให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ผู้นำประเทศสมาชิกยูโรโซนได้บรรลุข้อตกลงกันในเดือน มิ.ย.
ในการมอบอำนาจให้แก่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพื่อกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซน
และอนุญาตให้มีการใช้กองทุนคุ้มครองยูโรโซนในการลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศสมาชิก
อย่างไรก็ดี เนื้อหาสำคัญในข้อตกลงฉบับนี้ยังคงมีความคลุมเครือและมีแนวโน้มว่า
ยูโรโซนจะไม่สามารถปฏิบัติตามกรอบเวลาในข้อตกลงนี้ได้
ทั้งรัฐมนตรีคลังยูโรโซนอาจจะต้องจัดการประชุมอีกครั้งในช่วงต่อไปในเดือน ก.ค.
เพื่อตัดสินใจอย่างหนักแน่นในประเด็นเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะที่นักการทูตคนหนึ่งของยูโรโซนกล่าวว่า...
การประชุมในครั้งนี้เป็นการสานต่อจากการประชุมสุดยอดผู้นำยูโรโซนที่ผ่านมา
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการกำหนดรายละเอียดทั้งหมดในข้อตกลงในการประชุมครั้งนี้
เนื่องจากประเด็นเรื่องการกำกับดูแลของอีซีบีเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและถือเป็นปัญหาระยะยาว
ทำให้ไม่สามารถที่จะตัดสินใจกันได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ( ECB) |
นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีจะเข้าแถลงต่อรัฐสภายุโรปในวันนี้ก่อนการประชุมยูโรกรุ๊ป
โดยมีความเป็นไปได้ที่นายดรากีอาจจะส่งสัญญาณถึง
การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น
มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ธนาคารพาณิชย์
หลังจากอีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่สถิติต่ำสุดที่ 0.75 % ในสัปดาห์ที่แล้ว
ซึ่งแผนการที่ผู้นำยูโรโซนตกลงกันไว้ระบุว่า
อีซีบีจะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
และหลังจากนั้นก็จะมีการอนุญาตให้กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM)
เพิ่มทุนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ได้โดยตรง
โดยไม่ต้องให้ความช่วยเหลือผ่านทางรัฐบาลเหมือนในปัจจุบัน
มาตรการนี้ถือเป็นการประนีประนอมกับสเปน
โดยสเปนได้ขอเงินช่วยเหลือราว 1 แสนล้านยูโร (1.25 แสนล้านดอลลาร์)
เพื่อนำมาเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารพาณิชย์สเปน
กระนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสเปนจะได้รับเงินช่วยเหลือนี้เมื่อใด
ESM มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในฤดูร้อนปีนี้ แต่เจ้าหน้าที่ยูโรโซนคนหนึ่งกล่าวว่า
ในช่วงนี้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องค้ำประกันความช่วยเหลือที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจาก ESM
วิธีการนี้อาจช่วยลดความกังวลของเยอรมนี ซึ่งไม่ต้องการเห็น ESM แบกรับความเสี่ยง
ข้อตกลงของผู้นำยูโรโซนอนุญาตให้ ESM และกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF)
สามารถเข้าซื้อพันธบัตรยูโรโซนทั้งในตลาดแรก (การเปิดประมูล) และตลาดรอง (ตลาดเปิด)
เพื่อกดดันต้นทุนการกู้ยืมให้ลดลง
โดยอาจมีกำหนดเงื่อนไขบางประการสำหรับประเทศเจ้าของพันธบัตร
แต่จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขมากเท่ากับมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ
ขณะที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์และฟินแลนด์คัดค้านมาตรการนี้
อย่างไรก็ดี สนธิสัญญา ESM ระบุว่า ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้น
ESM สามารถตัดสินใจได้โดยใช้เสียงข้างมากประมาณ 85 %
ซึ่งนั่นหมายความว่าเนเธอร์แลนด์และฟินแลนด์ไม่สามารถขัดขวางมาตรการนี้ได้
เพราะสองประเทศนี้ครองเสียงโหวตรวมกันเพียงแค่ 8 % เท่านั้น
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น