5 สิงหาคม 2555

เฮดจ์ฟันด์ กองทุนปีศาจ (จบ)

ทุนปีศาจครอบโลก

เพียงแค่ขนาดของกองทุนปีศาจนั้นก็มหาศาลแล้ว เช่น
กองทุนที่ใหญ่ที่สุด Bridgewater Associates บริหารเม็ดเงินจำนวน 38,600 ล้านเหรียญ หรือ 11 ล้านล้านบาท
หรือกองทุน Soros Fund Management ของพ่อมดการเงิน Soros มีทรัพย์สิน 2 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 7 แสนล้านบาท
ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินไทยทั้งปีในบางปี (1 ล้านล้านบาทเศษ)
แต่สามารถซื้อขายโดยวิธี Leverage คือกู้เงินมาซื้อขาย
หรือซื้อขายเงินเชื่อแล้วมาหักกำไรขาดทุนทีหลังได้มากถึง 10-25 เท่า ของเม็ดเงินของกองทุน
ดังนั้นจึงไม่มีตลาดทุนและตลาดเงินที่ไหนของโลกสามารถต้านการโจมตี หรือการ “ทุบ” ของกองทุนปีศาจเหล่านี้ได้









ใน 10 กองทุนปีศาจเหล่านี้
รับบริหารเม็ดเงินเกือบ 3 แสนล้านเหรียญต่อปี
ในขณะที่กองทุนปีศาจทั้งหมดในโลก
บริหารเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญ
(2.5 trillion)




จากการเปรียบเทียบขนาดของกองทุน เมื่อก่อนเกิดวิกฤต subprime และภายหลัง
กองทุนเหล่านี้ไม่ได้เล็กลงเลย เพียงแต่สลับตำแหน่งกันตามความสามารถในการแข่งขัน

ก่อนเกิดวิกฤตอสังหาฯ ถล่ม (subprime crisis) ในปี 2008
กฎหมายหรือระเบียบที่ควบคุมกองทุนปีศาจมีน้อยมาก
เพราะรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องของนักลงทุนใหญ่ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณชน เช่น
ไม่มีระเบียบเรื่องสัดส่วนเงินสำรอง เรื่องสัดส่วนของเงินกู้ต่อทุน
และนอกจากนี้ กองทุน (offshore) ส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศหรือเมืองที่เรียกว่า tax haven
หรือเมืองท่าปลอดภาษี เช่น Cayman Island เป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 67
ตามมาด้วย British Virgin Islands ร้อยละ 11% และ Bermuda ร้อยละ 11%
รวมทั้งรัฐ Delaware ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทุนภายในประเทศ (onshore) มากถึงร้อยละ 64

ตัวเลขในปี 2004 มีกองทุนปีศาจในอเมริกามากถึง 7,000 กองทุน
ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก เช่น รัฐนิวยอร์ก และคอนเนกทิคัต

กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางของกองทุนปีศาจของยุโรป โดยเป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 75
และมีทรัพย์สินที่รับบริหารจัดการในปี 2008 เป็นเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
โดยเป็นเงินจากทวีปเอเชีย ร้อยละ 25 ส่วนอีกร้อยละ 25 ของเงินจากเอเชีย บริหารโดยกลุ่มทุนของอเมริกา

ในเอเชียก็มีสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นศูนย์กลางใหญ่ หรือที่ตั้งสาขาของกองทุนปีศาจเหล่านี้

อัตราค่าบริหารกองทุน

แรงจูงใจหรือน้ำเลี้ยงของกองทุนปีศาจ คือ
ค่าบริหารกองทุน (management fee), ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee)
อัตรามาตรฐานหรือราคาตลาดของค่าบริหารกองทุน คือร้อยละ 2 ต่อปี ของมูลค่าเงินของลูกค้าที่มอบให้บริหาร
แต่ต้องจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส เนื่องจากยอดเงินที่รับบริหารมีจำนวนมาก
รายได้ส่วนนี้จึงเป็นรายได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานและเป็นผลกำไรด้วย

ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee)
โดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 20 ของผลกำไรสุทธิจากการบริหารกองทุนนั้นๆ
แต่บางบริษัทอาจจะคิดมากกว่านี้ เช่น Steven Cohen”s SAC Capital Partners คิดร้อยละ 35-50
หรือ Jim Simons” Medallion Fund คิดร้อยละ 45

ค่าส่วนแบ่งผลกำไรนี้มักนำมาแบ่งปันกันในหมู่ผู้บริหาร
ในรูปของโบนัส เงินเดือน สิทธิซื้อหุ้นของบริษัท (stock option)
และเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริหารกองทุนปีศาจเหล่านี้ใช้วิธีการลงทุนที่ “สุ่มเสี่ยง”
เพื่อหวังผลตอบแทนสูงและได้ส่วนแบ่งสูงไปด้วย
หากคาดการณ์ถูกก็จะสร้างชื่อเสียง และมีกองทุนหรือมูลนิธิ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ แห่กันนำเงินมาให้บริหาร
หากตลาดไม่เป็นไปตามคาด ทุกอย่างก็ล้มพังครืนเหมือนวิกฤตการเงินในแต่ละช่วง
ซึ่งวนเวียนกลับมาทุก 10 ปี เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

Richard Fuld, ประธานของ Lehman Brothers
ได้ถูกนาย Henry Waxman (D-CA) ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งเป็นกรรมาธิการด้านปฏิรูประบบงานของรัฐ เรียกมาให้การ เพื่อสอบสวนและตั้งคำถามว่า
“บริษัทของคุณยื่นเป็นบริษัทล้มละลาย แต่คุณกลับรับเงินตอบแทนที่ดูดไปจากบริษัท 
เป็นเงินมากถึง 480 ล้านเหรียญ นั้นเป็นธรรมหรือไม่”

สถาบันจัดอันดับ

เครื่องมือที่สำคัญของกองทุนปีศาจ คือ สถาบันจัดอันดับ เช่น Moody's และ Standard & Poor's
นิตยสารและน.ส.พ.ธุรกิจ และการเงิน รายงานประจำเดือนของสถาบันการเงินหรือกองทุน 

เช่น น.ส.พ.วอลล์สตรีต, Forbes, Business Week ฯลฯ
ซึ่งกองทุนปีศาจเป็นผู้ให้โฆษณารายใหญ่ หรือมีผู้บริหารที่รู้จักกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน
หรือเป็นบอร์ดไขว้กัน ดังนั้นเมื่อมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือรายงานข่าว (ลือ ลับ ลวง พราง)
ทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปแตกตื่นเทขายหุ้น แล้วถูกช้อนซื้อ
หรือในทางตรงกันข้าม หรือรัฐบาลหรือนักการเมืองประเทศกำลังพัฒนาแตกตื่น
และออกมาตรการหรือกฎหมายในลักษณะเต้นตามเพลงที่เขาเปิด และติดกับดักการเงิน หรือกับดักหนี้


เมื่อไรจะตาสว่างกัน (เสียที)

แน่นอนว่า การปฏิเสธตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุน ตลาดเงิน หรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน
แต่การเปิดหูเปิดตาให้ประชาชนเรียนรู้และรู้เท่าทันความจริงเชิงประจักษ์ที่มีหลักฐานยืนยันได้
ท้งมีเหตุการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นพักๆ
และการที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องนำเงินภาษีอากรมาอุ้มกองทุนปีศาจเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยัน

การให้การศึกษากับประชาชนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง
เป็นเรื่องสำคัญที่มิใช่การรู้ไม่เท่าทันและเทศนาให้ประชาชนยิ่งโง่งมและถูกหลอกต่อๆ ไปด้วยคาถาว่า
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจของชาติ และมีการใช้เงินภาษีเข้าอุ้มเมื่อเกิดวิกฤต
แต่ความจริงเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากบ่อนที่มาเก๊า หรือลาสเวกัสนั่นเอง

นอกจากนี้รัฐต้องไม่งมโข่งหลับหูหลับตาเชื่อในเรื่องการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ หรือรัฐวิสาหกิจ
เพื่อนำเข้าตลาดหุ้น ทั้งๆ ที่เป็นรายได้ของรัฐ หรือการเปิดเสรีอย่างหลับหูหลับตา
แล้วปล่อยให้ทุนปีศาจเข้ามาดูดเลือดคนในชาติได้อย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุม ด้วยมาตรการภาษี
หรือมาตรการอื่นๆ ที่เป็นการป้องปรามกองทุนปีศาจที่ไร้คุณธรรมเหล่านี้เข้ามาควบคุมและมุ่งหากำไรอย่างเสรี

โดย กมล กมลตระกูล จากคอลัมน์ เดินคนละฟาก / ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น