7 สิงหาคม 2555

ข่าว Forex 7 ส.ค.

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เพิ่มเพดานเงินกู้ฉุกเฉินให้กรีซชั่วคราวแก่ธนาคารกลางกรีซ
ทั้งนี้ สภาบริหารของอีซีบีได้บรรลุข้อตกลงในการประชุมอีซีบีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ในการเพิ่มเพดานสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้นของกรีซที่ธนาคารกลางกรีซจะได้รับ
เพื่อรอผลการตรวจสอบเศรษฐกิจของกลุ่มเจ้าหนี้ Troika
นอกจากนี้การให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกรัฐบาลเยอรมันว่า
นายกรัฐมนตรีเยอรมันสนับสนุนแผนการที่ ECB จะซื้อพันธบัตรของประเทศกลุ่มยุโรปอีกครั้งนั้น
ยังเป็นจิตวิทยาเชิงบวกอยู่
โดยนักลงทุนต่างความคาดหวังที่ว่า ECB อาจจะดำเนินการเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจครั้งใหม่ในเร็วๆ นี้
ขณะที่บรรยากาศในตลาดพันธบัตรสเปนและอิตาลีก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนเริ่มลดลง

เมื่อคืน นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) กล่าวสุนทรพจน์ว่า
แม้มีสัญญาณบ่งชี้มากมายว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
แต่ประชาชนและธุรกิจจำนวนมากยังคงเผชิญกับความยากลำบากทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน
อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มของนโยบายการเงิน
หรือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.ค. ที่เพิ่มขึ้นเกินคาด
แม้ก่อนหน้านี้ เขาได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะ
และเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ในหลายประเทศของยูโรโซน
ซึ่งยังคงสร้างความตึงเครียดให้กับตลาดการเงินทั่วโลก และฉุดรั้งอุตสาหกรรมส่งออกของสหรัฐฯ

โดยในวันนี้ เวลาตี 1 ครึ่ง นายเบน เบอร์นันเก้ มีกำหนดการในการตอบคำถามผ่านวง Videoconference  
ซึ่งอาจจะมีสัญญาณที่ทำให้นักลงทุนตีความว่าจะมีการทำ QE 
หรือมาตราการอื่นที่อยู่ระหว่างที่ FED พิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้
นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ



ด้าน นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของสเปนในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดยระหว่างการหารือทางโทรศัพท์กับ นายมาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน
ประธานาธิบดีโอบามาได้ยอมรับถึงความยากลำบากที่ชาวสเปนกำลังเผชิญอยู่
ทั้งนี้ การสนทนาทางโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการหารืออย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐฯ
กับบรรดาผู้นำยุโรปในประเด็นเศรษฐกิจยูโรโซน

นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี
เตือนถึงความเป็นไปได้ที่ยุโรปจะแตกสลาย
หากไม่มีการดำเนินการที่เร่งด่วนกว่านี้เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาค
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือของธนาคารกลางยุโรป (ECB) แก่อิตาลีและสเปนก็เผชิญภาวะชะงักงันมากขึ้น
ซึ่งความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในหลายเรื่องภายในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 17 ประเทศนั้น
กำลังเบี่ยงเบนการดำเนินนโยบายแก้ไขวิกฤตหนี้และกำลังบ่อนทำลายอนาคตของสหภาพยุโรป (EU)
แต่ปัญหาต่าง ๆ จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วในตอนนี้
เพื่อที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถของยูโรโซนในการแก้ไขวิกฤตจะได้หมดไปและไม่เกิดขึ้นอีก
โดยทั้งนี้ อิตาลีและสเปนกำลังพยายามต้านทานแรงกดดันจากประธาน ECB
ที่ต้องการให้ทั้งคู่ยื่นขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากกองทุนช่วยเหลือยูโรโซน
ก่อนที่ ECB จะเข้าซื้อพันธบัตรของอิตาลีและสเปน
โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเยอรมนีและประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีเผยว่า
อิตาลียังไม่จำเป็นต้องขอให้กองทุนช่วยเหลือของยูโรโซนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดในขณะนี้
แม้นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในอิตาลีและยูโรโซนยังคงยากลำบาก
แต่อาจจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินในอีกหลายเดือนข้างหน้า
และการที่อิตาลีจะขอความช่วยเหลือก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบการพิจารณา

กระทรวงแรงงานและประกันสังคมของสเปนเปิดเผยว่า
จำนวนคนว่างงานในสเปนลดลง 27,814 คนในเดือนกรกฎาคม คิดเป็นอัตราลดลง 0.6% จากเดือนมิถุนายน
ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่แล้ว โดยจำนวนคนว่างงานในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 4,587,455 คน
ซึ่งแม้ว่าจำนวนคนว่างงานจะลดลงในเดือนดังกล่าว
แต่ตัวเลขก็ยังสูงกว่าปีที่แล้วอยู่ 507,713 คน หรือเพิ่มขึ้น 12.4%


ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า
ญี่ปุ่นจะยังคงส่งเสริมให้บริษัทเอกชนภายในประเทศเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ
และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินเยน
ด้วยการขยายโครงการปล่อยเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว
โดย นายจุน อาซูมิ รมว.คลังญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า
ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจขยายระยะเวลาการปล่อยเงินกู้ประเภทดังกล่าวออกไป 6 เดือน จนถึงเดือน มี.ค. 2556
ขณะสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า
การขยายระยะเวลาการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคเอกชนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า
รัฐบาลญี่ปุ่นวิตกกังวลว่าเงินเยนแทบจะไม่มีทีท่าว่าจะหยุดแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินหลักๆ
เนื่องจากนักลงทุนได้แห่กันถือครองเงินเยนซึ่งเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย
ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส บอกว่า
ตัวกำหนดราคาทองคำในปีนี้จะขึ้นอยู่กับการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE 3 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ
โดยให้ติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะจะเป็นปัจจัยหนุนเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในตลาดทองคำ
ซึ่งหากมีการออก QE3 ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีก
ด้าน นายศุภกร สุนทรกิจ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เกียรตินาคิน กล่าวว่า ราคาทองคำที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง
เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังแข็งค่าขึ้นจากปัญหาหนี้ในกลุ่มยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ
รวมทั้งมาตรการ QE ที่ยังไม่มีออกมา

โดยตลาดยังคาดการณ์ว่าในเดือนกันยายนนี้ หาก QE3 ออกมาก็น่าจะหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้
โอกาสที่จะเห็น 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก็ยังมีอยู่
และราคาแถว 1,570 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก็ไม่น่าจะต่ำไปมากกว่านี้
เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็แข็งค่าขึ้นมามากแล้ว

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น