14 สิงหาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 14 ส.ค.


ปัจจัยแวดล้อมตลาดโดยรวมดูจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยที่ความกังวลหลักของนักลงทุนยังคงเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ซึ่งท่ามกลางความวิตกทั้งหลายกลับมีความคาดหวังเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
จากหลายๆ ประเทศเป็นตัวช่วยประคอง หรือเป็นแรงผลักดันการฟื้นตัวของตลาดในบางช่วง
แม้ว่าตอนนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังค่อนข้างทรงตัว จึงยังไม่สะท้อนภาพการออกมาตรการฯ ในเร็วๆ นี้
แต่แนวโน้มที่ดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าอาจมีมากขึ้นตามลำดับ
ตราบเท่าที่ตลาดยังเต็มไปด้วยความคาดหวังต่อมาตรการ QE3

ขณะที่สหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้ธนาคารใหญ่ทั้ง 5 วางแผนฟื้นฟูเพื่อสามารถรับมือกับสถาการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ จึงเริ่มสะท้อนความอ่อนแอในระบบธนาคาร

ด้านยูโรโซน ยังไม่มีพัฒนาการเรื่อง ECB ซื้อพันธบัตรของประเทศยุโรป
ซึ่งเป็นเรื่องที่เก็งกำไรกันมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว
ต้องจับตาดูพัฒนาการของสถานการณ์ในยุโรปหลังจากนายกรัฐมนตรีเยอรมันกลับมาจากพักร้อนยาว
ว่านาง​แอง​เกลา ​แมร์​เคิล น่าจะแสดงจุดยืนที่ชัดขึ้นต่อการให้ ECB เข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตร
เพื่อช่วยประเทศที่กำลังมีปัญหาอยู่หรือไม่
ขณะที่ผลประโยชน์และข้อเสียเปรียบของการแทรกแซงจาก ECB นั้น
กำลังอยู่ภายใต้การถกเถียงกันในกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มรัฐมนตรีคลังของยุโรป
โดยยังคงมีการกล่าวต่อต้านการเข้าซื้อพันธบัตรสเปนและอิตาลีของอีซีบี ซึ่งมีการระบุว่า
แม้ว่าการเข้าซื้อพันธบัตรโดยอีซีบีจะสามารถลดความตึงเครียดในตลาดได้ในระยะสั้น
แต่จะมีผลกระทบทางด้านเงินเฟ้อมาในระยะยาว

ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษปี 2555
เป็นขยายตัวราว 0% จากคาดการณ์เดิมที่ขยายตัว 0.8%
ทั้งนี้ BOE ระบุว่าเศรษฐกิจอังกฤษที่ซบเซาอาจส่งผลให้ต้องเพิ่มเพดานมาตรการ Quantitative Easing
(QE) ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็น 500 พันล้านปอนด์ในอนาคตอันใกล้นี้



ติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• ตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นรายไตรมาสและดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือนในฝรั่งเศส 12.30 น.
• ตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นรายไตรมาสในเยอรมัน 13.00 น.
• ตัวเลขการจ่ายค่าจ้างนอกภาคการเกษตรเบื้องต้นรายไตรมาสในฝรั่งเศส 13.45 น.
• ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตในสวิตฯ  14.15 น.
• ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภครายปีในอังกฤษ 15.30 น.
• ZEW ​เผยดัชนี​ความ​เชื่อมั่นทาง​เศรษฐกิจของ​เยอรมนี 16.00 น.
• ตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจในยุโรป 16.00 น.
• ตัวเลขจีดีพีรายไตรมาสและตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือนในยุโรป 16.00 น.
• ตัวเลขยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิตในสหรัฐฯ 19.30 น.
• ตัวเลขคลังสินค้ารายเดือนในสหรัฐฯ  21.00 น.

***

ปัจจัยเสี่ยง..วิกฤตศก.โลกรอบใหม่ จับตาปัญหายูโรโซน-ศก.สหรัฐ-การชะลอตัวศก.จีน


เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ให้กับผู้บริหารและบุคลากรภายในเครือเจริญโภคภัณฑ์
หลังจากที่สำนักกฎระเบียบการค้าได้เคยจัดสัมมนา เรื่อง
เศรษฐกิจอเมริกา-ยุโรป : วิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่? เมื่อเดือนกันยายน 2554 ไปแล้ว
สำนักฯ จึงได้เชิญ “ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง  ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและธนาคาร วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคให้ช่วยมาบรรยายเรื่อง
“จับตาปัญหายูโรโซน วิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่?”
ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญหน้าในปีนี้นั้นไม่ธรรมดาทีเดียว
(ตามต่อ คลิก "อ่านเพิ่มเติม")


เริ่มที่ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป วิกฤตการเงินหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นทุกประเทศ หนักที่สุดคือ กรีซ
ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้สัดส่วนหนี้จะพุ่งไปที่ 198% ของ GDP
หากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว สัดส่วนหนี้ลงมาเหลือ 153% ของ GDP
แต่การขอความช่วยเหลือทางการเงินของกรีซจากสหภาพยุโรป IMF และ ECB (European Central Bank) ครั้งที่ 2
ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2555 สูงขึ้นถึงประมาณ 130,000 ล้านยูโร ซึ่งมากกว่าการขอความช่วยเหลือครั้งที่ 1
ในเดือนพฤษภาคมปี 2553 ซึ่งขอความช่วยเหลือประมาณ 110,000 ล้านยูโร
การปรับลดหนี้สาธารณะของกรีซไม่สามารถทำให้กรีซชำระหนี้ได้ กรีซจึงมี 2 ทางเลือก
- ทางเลือกที่หนึ่ง คือ ลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
โดยลดต้นทุนโดยการลดค่าจ้างแท้จริง ทั้งลดราคาสินค้าและบริการ (Deflation)
โดยการลดการใช้จ่ายภาครัฐ และการหดตัวของเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่สูงติดต่อกันหลายปี
(ปัจจุบันใช้วิธีนี้อยู่)
- ทางเลือกที่สอง คือ ออกจาก Euro Zone แล้วลดค่าเงิน และกลับไปใช้เงินสกุล Drachma 
ตลอดจนขอลดหนี้กับรัฐบาลยุโรป, IMF และ ECB
วิธีนี้จะทำให้เกิดวิกฤติการเงินที่รุนแรงมากและเศรษฐกิจหดตัวมากอีก 2-3 ปี
แต่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าวิธีที่ 1 และสามารถแข่งขันได้

ส่วน สเปน หนี้ภาครัฐไม่สูง แต่มีปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก
ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินแก้ไขปัญหาจำนวนมาก คาดว่าประมาณ 100,000 ล้านยูโร
สเปนจึงไม่สามารถที่จะลดการขาดดุลงบประมาณได้ตามเป้า อัตราการว่างงานพุ่งไปอยู่ที่ 24%
รัฐบาลต้องใช้จ่ายดูแลผู้ว่างงาน เศรษฐกิจก็หดตัวจากมาตรการรัดเข็มขัด
และ NPL ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.2
รัฐบาลต้องกู้เงินมาแก้ปัญหา ซึ่งต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงในการกู้เงิน
ธนาคารมีเงินสดไม่พอที่จะ Refinance ส่งผลให้หนี้รัฐบาลที่กำหนดชำระในไตรมาสที่ 2
ถูกปรับลดอัตราความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง

สำหรับ อิตาลี มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำและอัตราการว่างงานสูง
โดยเฉพาะการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2555
แม้ว่าในระยะหลังเกือบ 5 ปี ติดต่อกันการบริหารงานของรัฐบาลทำงบประมาณต่อ GDP ขาดดุลมาโดยตลอด
แต่จากปัญหาการขยายตัวของเศรษฐกิจและการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หนี้สาธารณะที่สูงมากอยู่แล้วพุ่งไม่หยุด
ทำให้อิตาลีถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน

ภาพรวมวิกฤตทางการเงินในสหภาพยุโรปเกิดจากหลายปัจจัย เช่น
เศรษฐกิจหลายประเทศในยุโรปหดตัวหรือขยายตัวต่ำมาก และเศรษฐกิจยุโรปก็ไม่ขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 
ข้อจำกัดเงินช่วยเหลือจากกองทุน ESM (European Stability Mechanism)
ซึ่งการเพิ่มวงเงินล่าช้าและประเทศที่มีปัญหาการเงินจะไม่สมทบเงินในกองทุนเพิ่มเติม
การเพิ่มวงเงินจาก IMF ยังไม่มีการอนุมัติจากคณะกรรมการที่ชัดเจน
การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) 
สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต้องตัดหนี้สูญเมื่อรัฐบาลจ่ายหนี้ต่ำกว่ามูลหนี้
มูลค่าพันธบัตรรัฐบาลของ PIIGS ลดลงทำให้สินทรัพย์และทุนของสถาบันการเงินลดลง
หนี้ภาคเอกชนของ PIIGS ที่ปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์บางส่วน
จะกลายเป็นหนี้เสียเมื่อเศรษฐกิจของ PIIGS ทรุดตัวลง
ธนาคารยุโรปขาดสภาพคล่องอย่างหนัก การเงิน การถือปรับลดเครดิตธนาคารยุโรปและสหรัฐอเมริกา
โดยมูดีส์และ S&P นำไปสู่ปัญหา Credit Crunch และวิกฤติการเงิน

อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จีน
ซึ่งมีปัญหาฟองสบู่อยู่ก่อนหน้านี้และการเร่งปล่อยสินเชื่อทำให้ฟองสบู่ขยายตัว
เงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากส่งผลให้สภาพคล่องพุ่งสูงขึ้น
นำไปสู่การเร่งปล่อยสินเชื่อและการขยายตัวของการลงทุน

นอกจากนี้ในช่วงต้นปี 2552
รัฐบาลจีนให้สถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อทำให้สินเชื่อขยายตัวมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อต่อ GDP พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
มูลค่าการส่งออกของจีนขยายตัวในอัตราที่ลดลงมาก รวมถึงจีนยังมีปัญหาสังคมในหลายมิติ
อาทิ ปัญหาขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลกลาง ประชาชนกับรัฐบาลท้องถิ่น
สวัสดิการสังคมที่แตกต่างกัน รายได้และความมั่งคั่งที่แตกต่างกันมากระหว่างคนรวยกับคนจน

แม้แต่ สหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหาอยู่มากเช่นกัน
อัตราการว่างงานดูเหมือนจะลดลงแต่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรก็ยังคงลดลงเช่นกัน 
เศรษฐกิจและการลงทุนมีการขยายตัวลดลง ในขณะที่หนี้สาธารณะยังสูงอยู่มาก
สหรัฐน ขาดดุลงบประมาณเกิน 1,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 4 ปีติดต่อกัน
เนื่องจากนโยบายบริหารของโอบาม่า  และเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม
สภาคองเกรสของสหรัฐมีแผนลดการขาดดุลงบประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 10 ปีข้างหน้าให้ได้
โดยเริ่มลดค่าใช้จ่ายภาครัฐประมาณปีละ 120,000 ล้านบาทในปี 2556
ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ GDP ไตรมาสสี่ของสหรัฐฯ เกิดการติดลบรุนแรง

ตะวันออกกลาง ก็ยังคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน
จากวิกฤติการเมืองอาจทำให้ประเทศในซาอุดิอาระเบียปรับราคาน้ำมันสูงขึ้น
เพื่อนำเงินไปจ่ายสวัสดิการสังคม หากเกิดความขัดแย้งขึ้น
ทำให้สหรัฐฯ ไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ก็ยังไม่มีปัญหามากนัก เพราะน้ำมันสำรองของโอเปคมีเพียงพอ
ที่น่าห่วงคืออิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งมีการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบนี้ประมาณวันละ 17-18 ล้านบาร์เรล
หรือประมาณร้อยละ 20 ของการผลิตน้ำมันของโลกต่อวัน
น้ำมันเกือบทั้งหมดขนส่งไปทวีปเอเชีย ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งภายนอกและภายใน
นักธุรกิจไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและไม่ประมาท…
บริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่เป้าหมายอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (วันที่ 14 สิงหาคม 2555)

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น