สัปดาห์นี้ ดูเหมือนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังทรงตัวและไม่ได้บอกทิศทางที่ชัดเจนมากนัก
ในขณะที่ตัวเลขค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเล็กน้อย
โดยประเด็นที่อาจมาหล่อเลี้ยงตลาดในช่วงถัดไปคือ
การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 31 ส.ค. ที่ Jackson Hole
ซึ่งตลาดคาดว่าอาจมีการส่งสัญญาณถึง QE3 ก่อนการประชุม FOMC 12 ก.ย.
กระนั้นก็ถือได้ว่ายังห่างอีกถึง 2 สัปดาห์

หลังจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า
ยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ขยายตัว 0.8%
ทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค. ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3%
ซึ่งเป็นระดับการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดในรอบครึ่งปี
ส่งผลให้บดบังความคาดหวังสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากเฟด
ด้านสกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
เนื่องจากนักลงทุนเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของยูโรโซน
หลังจากมีรายงานว่าเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้
โดยรวมแล้ว ยุโรปถือว่าเข้าสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเป็นปัจจัยลบกดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง
ทั้งยังไม่รับแรงหนุนจากความหวังมาตรการจากธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB
โดยการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปเมื่อวานนี้
GDP ไตรมาสที่ 2 ของเยอรมนีขยายตัว 0.3% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพียง 0.2%
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ออกมายังต่ำกว่าไตรมาสก่อนที่ระดับ 0.5%
ส่วน GDP ไตรมาสที่ 2 ของฝรั่งเศสออกมาที่ระดับ 0% มากกว่าการคาดการณ์ว่าจะหดตัวลง 0.1%
ขณะที่ตัวเลขความเชื่อมั่นนักลงทุนของเยอรมนีประจำเดือนสิงหาคม
ซึ่งออกมาน่าผิดหวังอย่างมากที่ระดับติดลบ 25.5 ลดลงไปมากจากเดิมที่ติดลบ 19.6
เช่นเดียวกันกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปที่ออกมาติดลบ 0.6%
กรีซยังเป็นประเทศที่แย่ที่สุดมากกว่าที่เห็นจากภายนอก
ซึ่งประชาชนเริ่มหวังว่ากรีซจะออกจากสหภาพยุโรป เพื่อตั้งสกุลเงินของตนเองและจ่ายหนี้สินอันเป็นภาระได้
เนื่องจากสามารถลดค่าเงินของตนเองและง่ายต่อการชำระหนี้ที่มากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์
ทว่าการออกจากสหภาพยุโรปและกลับมาใช้สกุลเงินดรักมานั้น อาจจะไม่แก้ปัญหาทั้งหมดของกรีซ
ไมเคิล ฟัชส์ รองเลขาธิการพรรคคริสเตียน เดโมแครต (ซีดียู) ของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เตือนว่า
เยอรมนีจะไม่ลังเลที่จะใช้สิทธิ "วีโต" หรือยับยั้งมติการอนุมัติเงินช่วยเหลือรอบใหม่แก่กรีซ
หากพิจารณาแล้วว่า กรีซไม่ทำตามเงื่อนไขเงินกู้อย่างเคร่งครัด แม้ว่าชาติอื่นจะอนุมัติเงินช่วยดังกล่าวก็ตาม
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พรรครัฐบาลร่วมเยอรมนี
ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มหมดความอดทนกับแผนจัดการวิกฤตหนี้ของนางแมร์เกิล
โดยต่างกดดันและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเด็ดขาดต่อประเทศที่ไร้ระเบียบวินัยทางการคลัง
และไม่ต้องสนใจผลกระทบที่จะตามมา
“โดยส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลกรีซรู้ว่าควรจะทำอะไรถ้าพวกเขาไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจตามเงื่อนไขได้
เพราะเยอรมนีเดินมาถึงจุดที่เกินจะอุ้มไหวแล้ว” ฟัชส์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีจะรอฟังผลตัดสินของคณะตรวจสอบทรอยก้า ที่ประกอบด้วย
ผู้ตรวจสอบของสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
ซึ่งมีกำหนดประเมินผลสถานะการเงินของกรีซ ที่ในไตรมาส 2 ของปีหดตัวอีกถึง 6.2%
เพื่ออนุมัติเงินช่วยเหลือรอบใหม่มูลค่า 1.3 แสนล้านยูโรในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนจะดำเนินการใดๆ ต่อไป
ด้านความเคลื่อนไหวมาตรการแก้หนี้ของอียู ยังคงไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมใดๆ
เนื่องจากยังคงมีความขัดแย้งระหว่างผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป
ต่อแผนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังมีปัญหาด้านการระดมทุน
“ไม่มีเหตุผลเลยที่อีซีบีจะเริ่มเข้าซื้อพันธบัตร เพราะจะยิ่งทำให้อีซีบีต้องแบกรับภาระหนี้สินของทั้งสเปนและอิตาลี ซึ่งจะทำให้คุณภาพงบดุลบัญชีของอีซีบีเสื่อมถอยลง” ลุค โคเนน คณะกรรมการ ECB กล่าว
มีข้อมูลจากธนาคารกลางสเปนระบุเมื่อวานนี้ว่า
ธนาคารต่างๆ ของสเปนได้กู้ยืมเงินจากอีซีบีในเดือนกรกฎาคมแตะระดับ 4.02 แสนล้านยูโร
ส่งผลให้สเปนยังคงอยู่ห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ตลาดทุน
และเพิ่มแรงกดดันไม่ให้สเปนหลีกเลี่ยงจากการรับความช่วยเหลือทางการเงินได้
โดยสเปนมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้น 10% จากเดือนมิถุนายนที่กู้ยืมไว้ 3.65 แสนล้านยูโร
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจวันนี้ :
• ธนาคารกลางอังกฤษเผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) เดือนส.ค. 15.30 น.
• ตัวเลขอัตราว่างงานของอังกฤษเดือนก.ค. 15.30 น.
• สมาคมธนาคารเพื่อการจำนองของสหรัฐฯ (MBA) เผยผลสำรวจการยื่นขอสินเชื่อจำนองรายสัปดาห์ 18.00 น.
• ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนก.ค. 19.30 น.
• ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือนก.ค. 20.15 น.
• ตัวเลขดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐฯ 21.00 น.
• สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เผยสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ 21.30 น.
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น