16 สิงหาคม 2555

เศรษฐกิจยูโรโซนจ่อปากเหว "ถดถอย"


เจอบทความที่น่าสนใจเลยนำเอามาฝากกัน เพื่อเป็นข้อมูลการเทรดในอนาคต
หรือไว้เล่นเก็งกำไรระยะสั้น หรือจะอยู่เฉยๆ นอกตลาดเพื่อรอดูทิศทางที่ชัดเจนขึ้นก็ตามแต่
ข่าวก็คือข่าว ซึ่งก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ควรมองข้าม แม้นว่าจะชอบเทรดตามปัจจัยด้านเทคนิค

***

จีดีพียูโรโซนหดตัว 0.2% ในไตรมาสล่าสุด 
จ่อปากเหวภาวะถดถอยรอบ 2 
จับตาแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก

ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจ

เศรษฐกิจของยูโรโซนกำลังไต่อยู่บนปากเหวภาวะถอดถอยรอบ 2 (double-dip recession)
หลังจีดีพีของกลุ่มสมาชิก 17 ประเทศที่ใช้เงินสกุลเดียวกันหดตัว 0.2% ในไตรมาส 2
และมีสิทธิฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้พลอยย่ำแย่ไปด้วย
เศรษฐกิจของยูโรโซนที่มีมูลค่า 13 ล้านล้านดอลลาร์ กำลังหดตัว

แม้ขณะนี้ยูโรโซนจะยังหลบพ้นจากโหมดถดถอยทางเทคนิคไปได้
เพราะตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ศูนย์
จึงยังไม่เข้านิยามของภาวะถดถอยทางเทคนิคที่ตัวเลขจีดีพีต้องหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
แต่เป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจยูโรโซนอาจหดตัวต่ออีกในไตรมาส 3

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ "ทิม โอเลนเบิร์ก" ระบุว่า
สถานการณ์ย่ำแย่ในยุโรป รวมถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง
และการค้าที่ชะลอตัว กำลังฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้ดิ่งลงไปด้วย
เท่ากับจีดีพีในยูโรโซนที่ติดลบในไตรมาส 2 เติมโมเมนตัมขาลงให้กับเศรษฐกิจโลก

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่า เป็นไปได้ที่ภาวะ "ย่ำแย่" กำลังจะเปลี่ยนเป็น "เลวร้าย"
และแม้แต่เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของยุโรปก็อาจจะ "เอาไม่อยู่"
จนกว่าจะหามาตรการเด็ดขาดมารับมือกับวิกฤติหนี้ในยูโรโซนได้

นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซ แบงก์ "ยอร์ก เครเมอร์" กล่าวว่า เศรษฐกิจของเยอรมนียังค่อนข้างแข็งแกร่ง
แต่ก็อาจยังไม่แข็งแรงพอที่จะประคับประคองยูโรโซนเอาไว้ได้เพียงลำพัง
และนี่อาจเป็นข่าวเชิงบวกระลอกท้ายๆ ที่ออกมาจากเมืองเบียร์
รวมถึงเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวในช่วงไตรมาสถัดไป
ถึงแม้โครงสร้างพื้นฐานจะดี แต่เยอรมนีไม่สามารถแยกตัวเองออกมาจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในยูโรโซนได้
ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจโลกก็เริ่มผ่อนเกียร์ลงแล้วด้วย

ตัวเลขเศรษฐกิจของเมืองเบียร์เริ่มสะท้อนเค้าลางของการติดหวัดจากวิกฤติหนี้ยูโรโซน
ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ผ่อนฝีเท้าลง ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง
การลงทุนด้านธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ลดลงท่ามกลางบรรยากาศในยุโรปที่ยังมืดมน

ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากเอบีเอ็น แอมโร "เอไลน์ ชูลิ่ง" ให้ความเห็นว่า
สิ่งต่างๆ ตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ยูโรโซนกำลังเดินสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเห็นได้จากวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดงบประมาณ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศชายขอบของยูโรโซน
และหนี้สาธารณะที่พุ่งสูง ยิ่งผู้กำหนดนโยบายดำเนินการช้ามากเท่าไร
เราก็คาดการณ์ถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาส 3

ส่วนเศรษฐกิจของ "ฝรั่งเศส" พี่บิ๊กยุโรปอีกราย ไม่ขยับจากระดับ 0% เป็นเวลา 3 ไตรมาสติดต่อกัน
และธนาคารกลางแดนน้ำหอมประเมินว่าอาจหดตัวเล็กน้อยในไตรมาสถัดไป
เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ก็ไม่ค่อยสดใส
ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของระบบเศรษฐกิจฝรั่งเศสก็ดิ่งลง
ผู้บริโภคพากันลดรายจ่ายเพราะคาดว่าคงหนีไม่พ้นมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในเร็วๆ นี้
รวมทั้งตัวเลขการว่างงานที่แตะระดับ 10%

นี่ทำให้ภาคธุรกิจของแดนน้ำหอม อย่างบริษัทผลิตรถยนต์ต้องปรับลดปริมาณการผลิต
เพื่อไม่ให้สต๊อกสินค้าบวมท่ามกลางยอดขายที่อืดเป็นเรือเกลือ

"เปอโยต์-ซีตรอง" หั่นยอดผลิตในโรงงานประกอบที่ฝรั่งเศส 16% ส่วนเรโนลต์ผลิตรถน้อยลง 6%

ขณะที่ประเทศทางตอนใต้ที่กำลังเผชิญวิกฤติหนี้อย่างรุนแรง ภาพความมืดมนยังคงดำเนินต่อไป
ควบคู่กับเศรษฐกิจที่หดตัว รายได้จากภาษีที่ลดลง ยิ่งทำให้การหั่นงบประมาณเป็นได้ยากมากขึ้น

ดูอย่างประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้ว
ทั้งโปรตุเกส ซึ่งกำลังประสบภาวะถดถอยที่หยั่งลึกมากขึ้น
โดยจีดีพีไตรมาสล่าสุดหดตัวมากถึง 1.2%
ส่วนเศรษฐกิจกรีซหดตัวหนักถึง 6.2% และเผชิญแรงกดดันในการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม
เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่
เนื่องจากกรีซต้องการเงินสดสำหรับจ่ายเงินเดือนและบำเหน็จบำนาญ
รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ท่ามกลางเงินในคลังที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

เอเธนส์ เพิ่งประมูลขายตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อระดมเงินราว 4.06 พันล้านยูโร
หรือประมาณ 5.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับจ่ายหนี้พันธบัตรที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในสัปดาห์หน้า
ซึ่งกรีซจำเป็นต้องชำระหนี้คืนแก่ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ราว 3.2 พันล้านยูโร (3.9 พันล้านดอลลาร์)
ภายในวันที่ 20 สิงหาคม ถึงแม้วิธีนี้จะยิ่งทำให้ต้นทุนกู้ยืมของกรีซเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นศูนย์กลางความกังวล
และจ่อเข้าคิวขอความช่วยเหลืออย่างอิตาลีและสเปนก็ออกอาการไม่สู้ดี
ไตรมาสล่าสุด เศรษฐกิจโรมหดตัว 0.7% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส
และเศรษฐกิจสเปนหดตัว 0.4% เป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดกัน
กรณีของอิตาลีและสเปนยิ่งเผชิความท้าทาย 
ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษกิจเติบโต ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น

ร้านรวงในอิตาลีพยายามดิ้นรนอย่างหนักที่จะขายสินค้าให้ได้ แม้ต้องยอมหั่นราคาลงถึง 80%
แต่ดูเหมือนนักช็อปก็ยังเดินเข้าร้านเพื่อตากแอร์เย็นๆ มากกว่าจะตั้งใจซื้อสินค้าอย่างจริงๆ จังๆ
ส่งผลให้ร้านค้านับพันแห่งต้องปิดตัวลง เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ
เพราะชาวอิตาลี 30% ไม่เดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจในเวลาที่เงินตึงมือเช่นนี้


ที่มา  : กรุงเทพธุรกิจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น