30 สิงหาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 30 ส.ค.

ความหวังของนักลงทุนต่อประธานเฟดที่จะประกาศมาตรการ QE3 เริ่มลดลง
เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นยังเติบโตในระดับปานกลาง

โดยความสนใจทั้งหลายทั้งปวงยังจดจ่ออยู่ที่การแถลงสุนทรพจน์ของนายเบน เบอร์นันเก้
ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เมืองแจ๊คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ในวันศุกร์นี้
ซึ่งอาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ขณะเมื่อวาน ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ
ที่ประกาศออกมาขยายตัวตามคาดที่ 1.7% จากระดับ 1.5% ครั้งก่อน
โดยเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 2 ดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นคือยอดส่งออกที่ดีเกินคาด ยอดนำเข้าที่ลดลง
รวมถึงการบริโภคส่วนบุคคลที่แข็งแกร่ง ทว่าการใช้จ่ายภาครัฐก็ยังคงเป็นตัวฉุดรั้งจีดีพี
แต่ไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์ในเบื้องต้นขณะที่การใช้จ่ายภาคธุรกิจก็ลดลง
นอกจากนี้ตัวเลขยอดขายบ้านที่รอปิดการขายก็ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์
โดย Pending Home Sales เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.
สู่ระดับ 101.7 ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ และสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2553
นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น
ส่วนรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book ที่ระบุว่า
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคง “ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทั่วภูมิภาคและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ในเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคม
แต่แนวโน้มการฟื้นตัวในภาคค้าปลีกและภาคการผลิตยังไม่มีความชัดเจน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาล่าสุดเหล่านี้ได้ส่งผลให้นักลงทุนลังเลที่จะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
เพราะตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ยากแก่การตีความ เพราะออกมาไม่ดี คนก็กลัวๆ ลังเล
แต่ถ้าออกมาดี ก็มองได้ว่าอาจจะไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

ทั้งนี้ สัปดาห์หน้านักลงทุนจะเปลี่ยนความสนใจไปยังฝั่งยุโรป ก่อนหน้าการประชุม ECB ในวันที่ 6 ก.ย.
ขณะด้านข่าวสารในยุโรปที่น่าสนใจติดตาม คือ
• นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ยังคงคัดค้านแนวคิดที่จะให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์กับกองทุนช่วยเหลือ ESM 
ซึ่งหากกองทุนดังกล่าวไม่สามารถแปลงสภาพเป็นธนาคารได้
ก็จะมีเงินทุนจำกัดในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเพิ่มทุนให้กับธนาคาร
• รัฐบาลสเปนจะประกาศแผนตั้ง Bad Bank ในวันศุกร์
ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารสเปน
เพื่อเป็นการปูทางสำหรับแผนการช่วยเหลือของสหภาพยุโรปต่อไป
และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ต้องทำเพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือภาคธนาคารมูลค่า 1 แสนล้านยูโร

ทำให้ตลาดยุโรปได้รับแรงลบ ประกอบกับความกลัวของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวทางการใช้ ESM
หรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ปัจจุบันดูเหมือนว่ายังไม่ได้มีข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของนายมาริโอ้ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ดูอ่อนลงเล็กน้อย
กับเรื่องรวมยุโรปจากบทความที่ตีพิมพ์ในสื่อของเยอรมนี ซึ่งแสดงความคิดเห็นว่า
อีซีบีจะต้องใช้มาตรการพิเศษในเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำให้มั่นใจว่านโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ
โดยธนาคารก็จะต้องปฏิบัติตามอำนาจที่มีอยู่ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา
ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้มาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากเครื่องมือด้านนโยบายการเงินทั่วไปที่มีอยู่
โดยเฉพาะเมื่อตลาดการเงินกำลังแยกเป็นส่วนๆ หรือได้รับผลกระทบจากความกลัวที่ไร้เหตุผล
ตอนนี้ อีซีบีกำลังร่างแผนซื้อพันธบัตรใหม่ เพื่อกดต้นทุนการกู้ของประเทศที่มีปัญหา เช่น สเปนและอิตาลี
ซึ่งนายดรากีคาดว่า จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาหลังการประชุมอีซีบีในวันที่ 6 ก.ย.
โดยที่ผ่านมา ธนาคารกลางเยอรมนีก็ได้คัดค้านแผนดังกล่าวมาตลอด
ล้วนแสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินยุโรปอาจยืดเยื้อต่อไปอีก ส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 14.55 น. ตัวเลขอัตราว่างงานของเยอรมนี (German Unemployment Change)
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานของสหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคา​การ​ใช้จ่าย​เพื่อ​การบริ​โภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Price Index)
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending)
• วันแรกของการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติ (Jackson Hole Symposium)

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น