เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) ได้ชื่อว่า กองทุนปีศาจ
วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่วิกฤตหนี้ในละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980,
วิกฤตการเงินเตกิลา, วิกฤตฟองสบู่แตก วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 (1997)
และล่าสุดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis)
บางคนเรียกว่า วิกฤตคาวบอย หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 (2008)
ล้วนเป็นผลมาจากความกระหายเลือดของกองทุนปีศาจเหล่านี้
การได้รับชื่อว่า กองทุนปีศาจ เพราะว่ากองทุนเหล่านี้ไม่มีตัวตน
ไม่มีทรัพย์สินของตนเอง จับต้องไม่ได้
แต่หลอกคนได้ สูบเลือดคนได้เหมือนปีศาจ
การทำงานหรือการบริหารของกองทุน
ต้องใช้กลไกของสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งมีรายได้ (fee) จากการให้บริการหรือเป็นกลไกในการทำงานแทนกองทุนปีศาจ
เพื่อแลกกับค่าบริการ ที่สามารถคิดได้สูงลิบลิ่วตามปริมาณเงินที่ผ่านเข้า-ออก
สถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญตั้งกองทุนหรือรับบริหารกองทุน
โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ
เมื่อพูดถึงกองทุนปีศาจจึงรวมถึงสถาบันการเงินและรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนเหล่านี้ด้วย
เศรษฐกิจโลกที่อยู่ใต้กรงเล็บของกองทุนปีศาจ จึงได้ชื่อว่า ระบอบเศรษฐกิจกาสิโน (casino economy)
หรือทุนนิยมกาสิโน (casino capitalism)
กำเนิดเฮดจ์ฟันด์
เฮดจ์ฟันด์ถือกำเนิดขึ้นในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ 4 ปี
นายอัลเฟรด โจนส์ (Alfred W. Jones) ผู้สื่อข่าวด้านตลาดทุนและตลาดเงิน
ซึ่งคร่ำหวอดกับการสังเกตการเคลื่อนไหวของตลาดทุนและตลาดเงิน
จึงได้ตั้งกองทุนขึ้นมาลงทุนที่สวนทางกับการลงทุนทั่วๆ ไปในสมัยนั้น
โดยการเลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของตลาด
ในขณะเดียวกันเสนอขายราคาหุ้นตัวนั้นเมื่อราคาตกลงระดับหนึ่งพร้อมกัน
เพื่อลดการขาดทุนจำนวนมากๆ ในคราเดียว
รวมทั้งเลือกขายหุ้นประเภทห่วยแตกล่วงหน้า (selling short)
ดังนั้นเมื่อตลาดหุ้นขึ้น เขาก็จะได้กำไรจากตัวแรกมาชดเชยตัวหลัง หรือในทางตรงกันข้าม
ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการลดความเสี่ยงในตลาดทุนและตลาดเงินที่มีความผันผวน คาดการณ์ไม่ได้
เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวลับ ลวง พราง
กลยุทธ์เฮดจ์ฟันด์
กองทุนและเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่เขาเริ่มใช้เป็นคนแรกจึงได้ชื่อว่า เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds)
โดยต่อมาได้พัฒนาให้มีความซับซ้อน และนำมาใช้ในทุกตลาด คือ ตลาดทุน ตลาดเงิน
ตลาดอนุพันธ์ (derivatives) ตลาดคอมมิวดิตี้ (commodity) ตลาดพันธบัตร (bonds market)
และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (foreign exchange) โดยพ่อมดการเงินรุ่นต่อๆ มา
จนกลายเป็นกระแสหลักที่รู้กันแต่วงในของวาณิชย์ธนกิจ (investment bankers)
ส่วนบรรดาแมลงเม่า และนักลงทุน หรือผู้บริหารกองทุน ตามตำราปัจจัยพื้นฐานก็มักจะหมดตัว
หรือทำให้ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมลงทุน ประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจบชีวิต
เหมือนกับแมลงเม่าที่วิ่งเข้าหากองไฟไปด้วย
ตัวอย่างกลยุทธ์ที่ใช้ เช่น
การตั้งคำสั่งซื้อและขายพร้อมกันในตลาดเดียวกันหรือคนละตลาดเพื่อกินกำไรส่วนต่าง (arbitrage),
การซื้อเมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นและขายล่วงหน้าเมื่อตลาดอยู่ในภาวะขาลง long-short investing techniques,
การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซื้อขายแทนคน ซึ่งเรียกว่า quantitative investing หรือ program trading
ซึ่งมีการตั้งโปรแกรมทั้งซื้อหรือขายเมื่อดัชนีตัวใดตัวหนึ่ง หรือดัชนีของตลาด
หรือราคาหุ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนขึ้นหรือลงถึงจุดนั้น ก็จะสั่งซื้อหรือขายโดยอัตโนมัติในเสี้ยววินาที
ซึ่งคำสั่งเหล่านี้มีนับหมื่นๆ คำสั่งต่อวัน หรือเป็นแสนเมื่อรวมของทุกกองทุนเข้าด้วยกัน
โปรแกรมเทรดดิ้งนี้เองเป็นต้นตอของความผันผวนของตลาดทุน ตลาดเงิน
และตลาดอื่นๆ ทุกตลาด ที่เรียกว่า panic trading
ซึ่งเกิดจากการตั้งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง
การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง การซื้อขายภายในวันเดียวกัน หรือกู้เงินมาซื้อ ที่เรียกว่า leverage
กลยุทธ์การกู้เงินมาซื้อเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทุกกองทุนนำมาใช้
เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อและเพิ่มผลกำไรได้อย่างมหาศาล
ถ้าหากว่าบริหารไม่ผิดพลาด เช่น เมื่อกองทุนได้รับเงินมาบริหาร 10 เหรียญ
กองทุนอาจกู้เงินเพิ่มได้ 90 เหรียญ รวมเป็น 100 เหรียญ
เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือตลาดอนุพันธ์ หรือตลาดหุ้น
และหากว่าขาดทุนเพียงร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่ากองทุนนั้นหมดไปอย่างสิ้นเชิง
แต่ถ้าได้กำไรร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่าได้กำไร 100% ของเงินทุน
กรณีศึกษาตัวอย่างข้างต้น คือ
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2008 บริษัท Lehman Brothers ซึ่งได้ก่อตั้งมานานถึง 158 ปี
เป็นบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอเมริกา
และเคยเข้าร่วมขบวนการดูดเลือดคนไทยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540
โดยเป็นทั้งบริษัทที่ปรึกษา และตีราคาทรัพย์สินเอ็นพีแอล
แล้วตั้งบริษัทลูกขึ้นมาซื้อทรัพย์สินและหนี้สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ทรัพย์ของ ป.ร.ศ.)
แล้วไปบีบขายให้ลูกหนี้ในราคาสูงลิ่ว เมื่อลูกหนี้ซื้อไม่ไหวก็ต้องถูกยึดกิจการ
บัดนี้กรรมได้สนองโดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลให้เป็นบริษัทล้มละลายโดยมีหนี้สิน
เฉพาะที่เป็นพันธบัตร 768 แสนล้านเหรียญ (768 billion) ซึ่งเท่ากับประมาณแผ่นดินไทย 30 ปี
ในขณะที่ทรัพย์สินในกองทุนมีเพียง 639 แสนล้านเหรียญ (639 billion) คือติดลบ
ในปี 2003 Lehman Brothers มีเงินทุน 13,000 ล้านเหรียญ (13 billion)
แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 31,200 ล้านเหรียญ (312 billion)
ซึ่งแปลว่าทุกๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้มาเพิ่มอีก 24 เหรียญ(เท่า) เพื่อเก็งกำไร
พอถึงปี 2007 Lehman Brothers มีเงินทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 กลายเป็น 22.5 พันล้านเหรียญ
แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 691 พันล้าน
ซึ่งแปลว่าทุกๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้เพิ่มเป็น 31 เท่าเพื่อเก็งกำไร
การล้มละลายของ Lehman Brothers ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนคิดเป็นเม็ดเงิน 639 พันล้าน
เป็นคดีล้มละลายที่ใหญ่กว่าการล้มละลายของบริษัทพลังงาน ENRON ในปี 2001 ถึง 10 เท่า
กรณี ENRON กลายเป็นตำนานมหากาพย์แห่งการฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน
สถาบันจัดอันดับ และสื่อด้านเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนพัวพันเกี่ยวข้องโยงใยกันเหมือนใยแมงมุม
ไม่ต่างกับกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี
ซึ่งมีนายราเกซ สักเสนา และนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เป็นผู้ต้องหา
แต่มีนักการเมืองอีกจำนวนมากที่โยงใยเกี่ยวข้อง
เมื่อครั้งกองทุน Long-Term Capital Management
ซึ่งก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 2 คน
และเคยทำกำไรให้นักลงทุนสูงสุดถึงร้อยละ 25-50 จนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบทุกสาขา
และกองทุนของมหาวิทยาลัย มูลนิธิต่างแย่งกันเสนอให้กองทุนนี้บริหารให้
โดยกองทุนนี้มีเงินที่ได้รับมาบริหาร 40,000 ล้านเหรียญ
แต่สามารถกู้เงินมาลงทุนได้ 12,500 ล้านเหรียญ หรือ 30 เท่าของเม็ดเงินที่ตนมี
รวมทั้งมีตัวเลขงบดุลในบัญชีสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ด้วยวิธีการซื้อแบบใช้ margin
ซึ่งใช้เงินเพียงร้อยละ 10 ในการลงทุน 100 แต่ในที่สุดกองทุนนี้ก็ล้มครืนลง
และประธานาธิบดีคลินตันต้องกระโดดเข้ามาอุ้มด้วยการใช้เงินภาษีอากรของคนอเมริกันทั้งประเทศ
เพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของชาติล่มแบบโดมิโน
กลยุทธ์ข้างต้นนี้เอง
ที่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประชาชนมีเงินออมมากและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Pension Funds)
ในทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้ใช้แรงงานในประเทศเหล่านี้เป็นเจ้าของทุนปีศาจ
และล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น จึงมีนโยบายบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ
ตลาดทุนและตลาดเงิน หรือแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ
โดยข้ออ้างว่าเพื่อความทันสมัย เพื่อเปิดช่องทางการระดมทุนมาขยายธุรกิจ
และเป็นเรื่องการค้าเสรีหรือการเปิดเสรี
เพื่อให้กองทุนปีศาจเหล่านี้สามารถเข้ามาสูบเลือดกลับไปเลี้ยงประชาชนในชาติของตน
โดย กมล กมลตระกูล จากคอลัมน์ เดินคนละฟาก / ประชาชาติธุรกิจ
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น