หลังๆ มานี้...เรื่อง Forex สำหรับผมแล้วชักห่างๆ อืดๆ และไม่ได้สนใจเหมือนดังแต่ก่อน
ด้วยปัจจัยทางชีวิตหลายๆ ประการ รวมทั้งเวล่ำเวลาที่จะตามติดเกาะขอบอย่างสม่ำเสมอ
แต่ก็ยังเทรดฟอเร็กซ์ตามปกติ พอร์ตเงินเดโมเกลี้ยงฉาดก็ขอเงินปลอมใหม่และเทรดใหม่
ตั้งใจว่า...จะเทรดเงินปลอมเช่นนี้ไปตลอดปีนี้เลย สะสมประสบการณ์เข้าไว้...
วันนี้...บังเอิญ (อีกแล้ว) ได้อ่านบทความดีๆ ของท่าน ไสว บุญมา ในผู้จัดการออนไลน์
ก็เลยจัดแจงก็อปมาฝากกัน เผื่อจะเกิดประโยชน์อันใดกับนักเทรดชาวไทยที่ผ่านมาอ่านบล็อกนี้บ้าง
หน้าผาการคลัง หน้าผาฆ่าตัวเอง
ผู้ติดตามข่าวโลกคงได้ผ่านหูผ่านตากับคำว่า
“หน้าผาการคลัง” กันบ้างแล้ว
คำนี้เป็นคำใหม่ในแวดวงเศรษฐกิจซึ่งแปลมาจากคำว่า Fiscal Cliff
ใครจะเป็นคนคิดขึ้นใช้ไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดนัก
นอกจากมันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า
หมายถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
ถ้ารัฐบาลไม่ออกกฎหมายใหม่เพื่อแก้กฎหมายเก่าที่จะมีผลผูกพันทันทีเมื่อขึ้นปี 2556
หากไม่ออกกฎหมายใหม่มาแก้กฎหมายเก่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอเมริกามีสองอย่างด้วยกันคือ
รัฐบาลกลางจะต้องลดการใช้จ่ายลงอย่างฮวบฮาบและภาคเอกชนจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
หากสองอย่างนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน มันหมายถึงการใช้จ่ายโดยทั่วไปในเศรษฐกิจจะลดวูบลงทันที
อันมีลักษณะคล้ายเดินๆ ไปแล้วทางสุดลงตรงหน้าผาทันที
ผลที่ตามมาคือความถดถอยร้ายแรงของเศรษฐกิจอเมริกันซึ่งตกอยู่ในภาวะลูกผีลูกคนมานาน
หลังวันที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกเมื่อปี 2551
รัฐบาลอเมริกันอันมีฝ่ายบริหารเป็นผู้นำสามารถหาข้อตกลงกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ภายในกำหนดเวลา
การตกหน้าผาจึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหายังไม่หมดไป
เพราะอีกไม่นานรัฐบาลกลางจะต้องเผชิญกับเพดานหนี้ คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า
รัฐบาลอเมริกันอยู่ได้ด้วยการกู้หนี้ยืมสินซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นดินพอกหางหมูติดต่อกันมานาน
วันไหนที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มไม่ได้เพราะมีกฎหมายเพดานหนี้บังคับอยู่
วันนั้นก็จะเป็นวันที่เศรษฐกิจตกหน้าผาย่อยๆ
สภาพเช่นนี้ทำให้มีผู้ตราเศรษฐกิจอเมริกันว่ากำลังเดินทางตามยุโรปอันเป็นการพูดเชิงดูแคลน
อะไรทำให้บางคนดูแคลนยุโรป
ผู้ติดตามข่าวคงทราบดีแล้วว่าล่าสุด
กรีซแซงหน้าสเปนในด้านการมีอัตราการว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นั่นคือ ผู้อยู่ในวัยทำงานถึง 26.8% หางานทำไม่ได้
ในขณะที่อัตราในสเปนซึ่งครองอันดับหนึ่งมานานอยู่ที่ 26.6%
อัตราการว่างงานในระดับนั้นหมายถึงอะไรคงไม่ต้องขยายความมากนัก
นอกจากการรอวันที่สังคมจะล่ม หรือตกหน้าผาตาย
ในสเปน รัฐคาตาโลเนียซึ่งเป็นที่ตั้งของเมื่องบาเซโลนาที่มีความเป็นเลิศในหลายอย่าง
รวมทั้งฟุตบอลและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่ารัฐอื่นอาจขอแยกตัวออกเป็นเอกราช
เหตุการณ์เช่นนั้นจะเป็นการเริ่มต้นของการแบ่งแยกสเปนซึ่งจะจบลงอย่างไรยากที่จะหยั่งได้
กรีซคงไม่ประสบปัญหาเช่นนั้น แต่ก็มีการฆ่ากันเกิดขึ้นแล้วหลังรัฐบาลตัดงบประมาณลง
เพื่อทำตามความต้องการของสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟในแนวที่ไทยต้องทำในปี 2540
ต้นตอของวิกฤตในกรีซได้แก่ การใช้นโยบายประชานิยมแนวเลวร้ายติดต่อกันมานาน
โดยรัฐบาลจ้างพนักงานพร้อมให้สวัสดิการและค่าแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานของรัฐก็ต้องเพิ่มให้ประชาชนโดยทั่วไป
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามเอาใจประชาชนโดยการลดอัตราภาษี หรือไม่เก็บเพิ่มขึ้นไป
พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายส่งผลให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากกรีซเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งมีข้อตกลงว่า
สมาชิกจะขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีไม่ได้
แต่รัฐบาลกรีซละเมิดกฏนั้นด้วยการตกแต่งบัญชีโดยมีธนาคารยักษ์ใหญ่ให้คำแนะนำ
ก่อนที่เรื่องจะแดงออกมาและเศรษฐกิจของกรีซเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤต
ปรากฏว่ากรีซขาดดุลงบประมาณถึง 13% ของจีดีพีและเป็นหนี้สินแบบท่วมท้น
กรีซยังโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ
ครั้งหนึ่งมีการพูดถึงการไล่กรีซออกจากสหภาพยุโรป
เมื่อไรกรีซถูกไล่ออก เมื่อนั้นหมายถึงการตกหน้าผาตายของกรีซ แม้จะยังไม่ตกหน้าผา
แต่ตอนนี้ชาวกรีกก็ต้องทุกข์ทนจากผลของการใช้นโยบายประชานิยมและความฉ้อฉลของรัฐบาล
อัตราการว่างงานที่ 26.8% เป็นตัวชี้บ่งตัวหนึ่งเท่านั้น ย้อนไปไม่นานชาวกรีกออกมาประท้วงรัฐบาล
เรื่องการตัดสวัสดิการของพวกตนส่งผลให้ถูกปราบปรามจนถึงขั้นเสียชีวิต
อาจจำกันได้ว่ากรีซและสเปนมิได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2500
กรีซเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2524 และสเปนเมื่อปี 2529 ทั้งที่ทั้งสองต้องการเป็นสมาชิกมาก่อนนั้น
การไม่ได้เป็นจากวันที่ต้องการเป็นมีเหตุสืบเนื่องมาจากสองประเทศนั้น
ยังมีการปกครองในแนวเผด็จการและมีสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมในแนวของประเทศกำลังพัฒนา
มากกว่าในแนวของประเทศก้าวหน้าซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งสหภาพยุโรป
ประเทศทั้งสองต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนสถาบันและกฎหมายของตนจนเป็นที่ยอมรับของสังคมประชาธิปไตย
ที่ใช้ระบบตลาดเสรีเป็นแนวบริหารจัดการเศรษฐกิจจึงเข้าเป็นสมาชิกของตลาดร่วมยุโรปได้
เหตุการณ์ที่เห็นอยู่ชี้บ่งว่า แม้จะเข้าเป็นสมาชิกของประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว
แต่หากยังไม่ระวังเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้รัดกุมจริงๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นหน้าผาที่จะพาสังคมไปตายได้ไม่ยาก
สหรัฐอเมริกาต่างกับสหภาพยุโรปในแง่ที่มีรัฐบาลกลางอันแข็งแกร่ง
ส่วนสหภาพยุโรปมีสมาชิกที่มีรัฐบาลเป็นของตนเองถึง 27 ประเทศ
นอกจากนั้น รัฐบาลอเมริกันยังเป็นมหาอำนาจที่สามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใช้ได้มากมาย
โดยที่สังคมโลกทั่วไปยอมรับ นอกจากนั้น ทุกครั้งที่รัฐบาลต้องประสบกับเรื่องเพดานหนี้
รัฐสภาก็ร่วมมือหาทางออก อเมริกาจึงไม่น่าจะตกหน้าผาในรูปของกรีซหรือสเปน
ส่วนการตกหน้าผาการคลังแบบทันทีทันใดก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้เพราะเมื่อเข้าตาจนจริงๆ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็จะหาทางออกได้
ดังที่มีตัวอย่างให้ดูเมื่อวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา...
หันมามองเมืองไทยจากมุมมองของหน้าผาซึ่งจะพากันไปตายหรือไม่จะพบว่า
ไทยไม่มีหน้าผาการคลังแบบอเมริกา ฉะนั้น การเดินไปตกหน้าผาแบบทันทีทันใดจะไม่เกิดขึ้นแน่
แต่ไทยกำลังสร้างหน้าผาเพื่อฆ่าตัวเองในแนวเดียวกับกรีซ
จะเห็นว่ารัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายสารพัดอย่างเพื่อสร้างความนิยมให้แก่ตัวเอง
แต่แทนที่จะเก็บภาษีเพิ่มเพื่อหาเงินมาสนับสนุนการใช้จ่ายพร้อมกันไปด้วย
รัฐบาลกลับพยายามลดภาษี ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ได้แก่
การลดอัตราภาษีเงินได้และการให้คืนภาษีแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรก
การทำเช่นนั้นย่อมนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น รัฐบาลปิดงบประมาณด้วยการกู้หนี้ยืมสิน
แต่รัฐบาลไทยไม่สามารถพิมพ์เงินบาทออกมาใช้ได้เช่นรัฐบาลอเมริกันพิมพ์เงินดอลลาร์
ฉะนั้น ในวันหนึ่งข้างหน้ารัฐบาลไทยก็จะไม่สามารถหากู้ยืมเพิ่มอีกได้
และในวันนั้นก็จะต้องคลานไปหาไอเอ็มเอฟซึ่งเป็นการล้มละลาย
หรือตกหน้าผาฆ่าตัวตายในแนวเดียวกับกรีซ
แน่ละ ผู้คลานไปหาไอเอ็มเอฟจะไม่ใช่ผู้บริหารบ้านเมืองชุดปัจจุบัน
ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านการตีกรรเชียงหลบเลี่ยงปัญหา
แต่จะเป็นพรรคฝ่ายค้านเช่นเดียวกันกับเมื่อปี 2540
***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น