10 สิงหาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 10 ส.ค.

วานนี้แม้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น แต่มาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของสหรัฐฯ
ซึ่งไม่ได้มาจากปัญหาในยุโรปที่ก่อตัวขึ้นใหม่ กอปรกับตัวเลขเศรษฐกิจทางยุโรปก็ออกมาไม่ค่อยดีด้วย
ทั้งช่วงนี้ยังไม่มีข่าวใหม่ในเรื่องการผ่อนคลายการเงินจากยูโรโซนและสหรัฐฯ
นักลงทุนบางส่วนอาจจะยังคงรออยู่นอกตลาดเพื่อรอดูสัญญาณจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด
ที่จะมีการประชุมกับสมาชิกเฟดในรัฐไวโอมิง ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

สัปดาห์นี้มีผลสำรวจที่น่าสนใจของรอยเตอร์ซึ่งระบุว่า...
มีความเป็นไปได้ 68% ที่สเปนจะรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปก่อนสิ้นปีนี้
นอกจากนี้กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ได้ลดมุมมองทางเศรษฐกิจในปี 2013 ของกรีซ โปรตุเกส และสเปนลง
โดยได้ให้มุมมองอย่างมีนัยยะสำคัญว่า
ประเทศต่างๆ ดังกล่าวจะล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายยอดขาดดุลที่ตกลงไว้กับคณะกรรมาธิการยุโรป
ทั้งนี้ท่ามกลางกลุ่มประเทศในยูโรโซนมีเพียงประเทศไอร์แลนด์เท่านั้น
ที่การเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ระดับปานกลางในเร็ววัน
อีกทั้งผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ลดลงที่กรีซอาจออกจากยูโรโซน
โดยมีการเน้นมาที่สเปนแทนว่าเป็นจุดโฟกัสใหม่ของวิกฤตหนี้สาธารณะ




นายคริสเตียน นัวเย่ (Christian Noyer)
สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี
ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Le Point  ว่า
อย่าสงสัยเรื่องความมุ่งมั่นของสภาบริหาร
และความสามารถที่จะดำเนินการใดๆ ภายใต้อำนาจที่มีอยู่
ซึ่งรวมถึงการปกป้องความเป็นปึกแผ่นของยูโรโซนด้วย
เขากล่าวว่า อีซีบีควรพร้อมที่จะแทรกแซงตลาดเร็วๆ นี้
โดยจะทำในตลาดพันธบัตรระยะสั้นก่อน
และการปฏิบัติการจะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะส่งผลต่อตลาด
ทั้งยังเสริมอีกด้วยว่า การถอนตัวออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซไม่ได้เป็นสิ่งที่สภาฯ นำมาพิจารณา
แล้วก็ไม่มีแผนเตรียมพร้อมรับมือกับกรณีที่จะมีประเทศใดประเทศหนึ่งออกจากยูโรโซน
อย่างไรก็ดี นายนัวเย่บอกว่า ธนาคารกลางไม่ควรต้องดำเนินการใดๆ
แทนฝ่ายการเมืองของประเทศสมาชิกที่จำเป็นต้องเร่งเดินหน้าปฏิรูปเพื่อลดภาระหนี้
และทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน อีซีบีได้ระบุในแถลงการณ์รายเดือนว่า
อาจจะแทรกแซงตลาดพันธบัตร พร้อมกับกองทุนช่วยเหลือยุโรป
หากประเทศที่มีปัญหามุ่งมั่นที่จะปรับฐานะการคลังและเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

วันศุกร์นี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปไม่ค่อยมีอะไรใหม่
ในขณะที่การคาดหวังว่า ตัวเลข Federal Budget Balance ของสหรัฐฯ (ประกาศตอนตีหนึ่ง)
จะมีการติดลบมากขึ้นจากระดับติดลบ 59.7 พันล้านดอลลาร์ เป็นติดลบ 103 พันล้านดอลลาร์
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจทางยุโรปซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่การกำหนดนโยบายทางการเงินที่สำคัญ
ซึ่งวันนี้มีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของเยอรมนี
โดยการรายงานครั้งที่แล้วเหลือเพียง 0.4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ สะท้อนการชะลอตัว
นอกจากนี้ยังมีการรายงานตัวเลขด้านการผลิตของฝรั่งเศสซึ่งก็น่าจะมีผลต่อตลาดยุโรปเช่นกัน
เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ถือเป็นผู้นำกลุ่มและเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่มีปัญหามากที่สุด
และยังถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ด้วย
การที่เศรษฐกิจของสองประเทศนี้อ่อนแอลงจะทำให้ความเป็นไปได้ในการให้เงินช่วยเหลืออาจจะทำได้ยากขึ้น
และยังทำให้เงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนในตลาดเกิดความไม่เชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของเยอรมนี ประมาณ 13.00 น.
• ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในฝรั่งเศสรายเดือน ประมาณ 13.45 น.
• ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตรายเดือนในอังกฤษ ประมาณ 15.30 น.
• ตัวเลขราคานำเข้าในสหรัฐฯ ประมาณ 19.30 น.
• ตัวเลขดุลงบประมาณในสหรัฐฯ ประมาณ 01.00 น.

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น