สองสามวันมานี้ นักลงทุนเริ่มแห่เข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในยามที่เกิดกระแสความวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ
ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 ก.ย.)
เนื่องจากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวและซบเซาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน
โดยล่าสุดข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนหดตัวลงต่ำกว่าที่คาด
ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ก็ออกมาสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้
แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังไม่ยั่งยืน
เป็นการตอกย้ำว่าเฟดจะดำเนินการซื้อพันธบัตร (QE3) ไปจนกว่าการว่างงานจะลงมาใกล้ระดับดุลยภาพ
ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ จาก Conference Board ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนส.ค.
บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แทบไม่มีความเคลื่อนไหว
ด้านธนาคารกลางเดนมาร์ก
ได้ทำการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้
ซึ่งปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 0.3% จากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.2%
เนื่องจากภาคเอกชนและผู้บริโภคปรับลดการใช้จ่ายลง เริ่มรัดเข็มขัด
อันเนื่องมาจากผลกระทบในด้านลบของวิกฤตการณ์ทางการเงินในยูโรโซน
ส่วนปัจจัยสำคัญในยุโรปยังอยู่ที่สเปน ซึ่งได้มีการประมูลพันธบัตร 3 ปี และ 10 ปี โดยผลตอบรับค่อนข้างดี
แต่ให้จับตาในวันที่ 27 ก.ย. นี้ เพราะสเปนจะมีการประชุมและแถลงนโยบายปฎิรูปเศรษฐกิจ
ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนว่าสเปนจะขอรับความช่วยเหลือเต็มรูปแบบจากกลุ่มยุโรปหรือไม่
และในวันที่ 28 ก.ย. จะมีการประชุมระหว่างผู้นำกรีซ อิตาลี สเปน (ประเทศที่มีปัญหาการเงินทั้งนั้น)
ก่อนการประชุมผู้นำยูโรโซนวันที่ 18 – 19 ต.ค.
ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกเรื่องที่จีนยืนยันจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลของยุโรปหรือกองทุน EFSF
และพร้อมช่วยเหลือให้ยุโรปกลับมาฟื้นตัวได้
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า
ผลกระทบจาก QE3 กับภาคการเงินไทย คือ ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
และยังมีความผันผวนต่อเนื่อง เงินทุนยังคงไหลเข้า
ส่งผลเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยธนาคารมองว่า...เงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 29.5 บาทต่อดอลลาร์
วันนี้ ไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น