27 กันยายน 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 27 ก.ย.

เมื่อวาน ตัวเลขที่เป็นปัจจัยช่วยกดดันค่าเงินยูโรได้แก่
ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเยอรมนีที่ประกาศออกมา 0% จาก 0.4%
ตัวเลขยอดค้าปลีกรายเดือนในอิตาลีที่ประกาศออกมา -0.2% จาก 0.4%
รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสเปนอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้น นักลงทุนจึงทยอยขายเงินยูโรออกมา
อีกทั้งกลุ่มเจ้าหนี้ระหว่างประเทศของกรีซยังมีความขัดแย้งกันในการแก้ปัญหาหนี้ของกรีซ
จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าเงินยูโร
ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นขณะที่สกุลเงินยูโรก็อ่อนค่าลง
แต่ช่วงดึกเมื่อคืนต่อถึงเช้านี้ ดูเหมือนจะมีแรงช้อนซื้อสกุลเงินยูโรเข้ามา...

ในช่วงเช้านี้ สกุลเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1.2870 ดอลลาร์ หลังจากร่วงแตะระดับต่ำสุดที่ 1.2835 ดอลลาร์
เทรดเดอร์รายหนึ่งกล่าวว่า คำสั่งซื้อที่บริเวณเส้นค่าเฉลี่ยรอบ 200 วัน
ที่ราคา 1.2827 ดอลลาร์ช่วยสกัดการร่วงลง และคาดว่าแนวรับที่แข็งแกร่งขึ้นอยู่ที่ 1.2739 ดอลลาร์
โดยเทรดเดอร์ดังกล่าวยังระบุว่า ความลังเลของสเปนในการขอความช่วยเหลือ
และใช้โครงการซื้อพันธบัตรใหม่ของธนาคารกลางยุโรป ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด
โดยนักลงทุนขายพันธบัตรสเปนและอิตาลีออกมาเมื่อวานนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นทันที

นักลงทุนยังระมัดระวังต่อการขายยูโรมากเกินไป เนื่องจากสเปนอาจจะขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา
แถมไม่มีใครต้องการถือดอลลาร์ไว้ในขณะที่เฟดกำลังดำเนินมาตรการกระตุ้นของตนเอง
ขณะที่ตลาดยังวิตกต่อการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนโดยมูดี้ส์ อินเวส เตอร์ เซอร์วิสในสัปดาห์นี้
ซึ่งอาจจะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลดต่ำกว่าระดับที่น่าลงทุน



ด้านตลาดหุ้นยุโรปรับลดลงถึง 2-3% จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสเปนปรับขึ้นเกิน 6% อีกครั้ง
ทำให้ความกังวลใจของนักลงทุนช่วงนี้พุ่งมาที่วิกฤติหนี้ยุโรปเป็นสำคัญ
ขณะที่รัฐบาลสเปนจะต้องพิจารณาแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2013 ในวันที่ 27 ก.ย.
ก่อนนำเสนอต่อสภาฯ ในวันที่ 28 ก.ย. ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนต่อมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่
ทั้งนี้ สเปนมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงสุดของยุโรป โดยตัวเลขประชากร 1 ใน 5 ว่างงาน
และกว่าร้อยละ 50 ของประชาชนอายุระหว่าง 19-25 ปี ก็ยังว่างงาน อยู่
ฉะนั้น มาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ เช่น การปฏิรูปแรงงาน ซึ่งทำให้ปลดแรงงานได้ง่ายขึ้น
ทั้งตัดทอนงบประมาณด้านการศึกษาและสาธารณสุข ได้จุดชนวนให้ชาวสเปนโกรธเคืองออกมาประท้วง
นอกจากนี้การประท้วงในกรีซก็ปะทุขึ้น เพราะรัฐบาลกรีซกำลังเตรียมการปรับลดรายจ่ายลงตามที่กลุ่มทรอยก้ากำหนด
โดยมีการผละงานประท้วงครั้งใหญ่ทั้งบรรดาสายการบิน รถไฟ ร้านค้า และโรงพยาบาลซึ่งเปิดเฉพาะแผนกฉุกเฉิน
ดูเหมือนว่าแนวทางการแก้ไขแบบเดิมๆ ด้วยการใช้มาตรการรัดเข็มขัดนั้น
จะไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยเหล่านี้เองได้ตอกย้ำให้เห็นว่า
ยูโรโซนเผชิญกับอุปสรรคขนาดใหญ่ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติการเงิน

ด้านเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ กล่าวว่า
รัฐบาลของแต่ละประเทศควรแบกรับความสูญเสียในภาคการธนาคารของประเทศด้วยตัวเอง
และกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ควรมีขีดจำกัดในการเพิ่มทุนแก่ธนาคารต่างๆ

เมื่อวานนี้ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฝรั่งเศสเผยว่า
จำนวนคนว่างงานในฝรั่งเศสออกมาสู่ระดับสูงสุดถึง 3 ล้านคนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปี
สะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของฝรั่งเศสในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 13.00 น. ตัวเลขราคานำเข้าสินค้าของเยอรมันรายเดือน (German Import Prices)
• เวลา 14.55 น. ยอดผู้ว่างงานเยอรมนี (German Unemployment Change)
• เวลา 15.30 น. ผลผลิตมวลรวมในอังกฤษ (Final GDP)
• เวลา 19.30 น. คำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานสหรัฐฯ (Core Durable Goods Order)
• เวลา 19.30 น. ยอดผู้ขอรับสวัสดิการจากภาครัฐในสหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 19.30 น. คำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ (Durable Goods Orders)
• เวลา 19.30 น. ผลผลิตมวลรวมในสหรัฐฯ (Final GDP)
• เวลา 21.00 น. ยอดทำสัญญาขายบ้านในสหรัฐฯ (Pending Home Sale)

• ประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอิตาลี (Italian 10-y Bond Auction)
อิตาลีจะประมูลขายพันธบัตรมูลค่า 7 พันล้านยูโรในวันนี้ โดยผลตอบแทนที่สูงขึ้นอาจเพิ่มความต้องการ
แต่ความผันผวนของตลาดก็อาจจะทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้าซื้อ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น