หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานเดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด
เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ส่งผลให้มีการคาดหมายถึงมาตรการที่แข็งกร้าวจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED)
ทำให้นักลงทุนพากันประเมินว่า เฟดจะออกมาตรการซื้อพันธบัตรรอบใหม่หรือไม่
หลังการประชุมนโยบาย FOMC ในสัปดาห์นี้
โดยเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm) เดือน ส.ค.
เพิ่มขึ้นเพียง 96,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 125,000 ตำแหน่งพอควร
จึงช่วยกระตุ้นความมั่นใจของนักลงทุนต่อผลประชุม FOMC ในสัปดาห์นี้ได้บ้าง
โดยจะมีการแถลงผลการประชุมในคืนวันพฤหัสบดี
ส่งผลให้โพลล์ของรอยเตอร์ปรับเพิ่มโอกาสการทำ QE3 ในการประชุมเฟดในวันที่ 12-13 ก.ย. เพิ่มเป็น 60%
กระนั้น อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ กลับลดลงสู่ระดับ 8.1% จาก 8.3% ในเดือน ก.ค.
ทำให้ความมั่นใจเรื่องมาตรการเพิ่มเติมดังกลาวยังมีไม่มากนัก
โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทการเงินเมซิโรว์ในนครชิคาโกกล่าวว่า
รายงานการจ้างงานเพิ่มเล็กๆ น้อยๆ นี้เพียงพอที่จะเขย่าให้เฟดขยับตัวได้
"QE3 (มาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณรอบที่ 3) ใกล้เกิดขึ้นแล้ว"
ในคืนวันที่ 12 ก.ย. นี้ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องตามติด คือ
ศาลเยอรมันจะตัดสินว่ากองทุนช่วยเหลือยุโรปเป็นการถาวร ESM นั้นขัดต่อกฎหมายเยอรมันหรือไม่
ซึ่งนักลงทุนเริ่มมีความหวังและความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อ ESM และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเสริม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ ESM น่าจะผ่านศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้
การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของอีซีบี หรือการที่สเปนอาจขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ
นายออลรี่ เรห์น คณะกรรมาธิการ European Monetary Affairs กล่าวต่อสำนักข่าว CNBC เมื่อวานนี้ว่า
ภายหลังการประกาศมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรของอีซีบีในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น
สเปนต้องมีการขอรับความช่วยเหลือก่อน
จากนั้นสมาชิกยูโรโซน ยูโรกรุ๊ป อีซีบี และไอเอ็มเอฟจึงจะมีการกำหนดเงื่อนไขที่ระบุเฉพาะเจาะจง
ในขณะที่ทางด้านอิตาลี นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
เขาไม่คิดว่าอิตาลีจะมีการเข้าใช้แผนการเข้าซื้อพันธบัตรจากอีซีบีในเร็วๆ นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 13.45 น. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือนในฝรั่งเศส (French Industrial Productio)
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขความเชื่อมั่นนักลงทุนในยุโรป (Sentix Investor Confidence)
• เวลา 02.00 น. ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภครายเดือนในสหรัฐฯ (Consumer Credit)
• เวลา 06.01 น. ตัวเลขการสำรวจราคาบ้านในอังกฤษ (RICS House Price Balance) เช้าวันอังคาร
***
อีซีบีเผยแผนซื้อบอนด์รอบใหม่
ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยรายละเอียดของแผนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ประสบปัญหาในการกู้เงินจากตลาด
แต่ยังคงตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายขอรับเงินจากกองทุนช่วยเหลือก่อน
ด้านนักลงทุนแสดงความพึงพอใจต่อมาตรการแก้วิกฤติล่าสุดของอีซีบี
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรล่าสุด
ภายใต้ชื่อ Outright Monetary Transactions (OMT)
ภายหลังการประชุมประจำเดือนในวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา โดยภายใต้มาตรการดังกล่าว
อีซีบีจะเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองที่มีอายุระหว่าง 1-3 ปีเท่านั้น
โดยไม่มีการกำหนดเพดานการซื้อล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเจ้าของพันธบัตรที่อีซีบีจะเข้าไปซื้อจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการช่วยเหลือของยูโรโซน
มาตรการซื้อพันธบัตรใหม่จะเข้ามาทดแทนมาตรการเดิมที่เรียกว่า Securities Markets Program
ซึ่งอีซีบีใช้เงินไปเป็นมูลค่า 2.09 แสนล้านยูโรในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล
โดยนายดรากียืนยันว่า อีซีบีจะไม่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ที่มีความสำคัญเหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่นในกรณีที่พันธบัตรซึ่งอีซีบีซื้อภายใต้มาตรการใหม่ต้องถูกปรับโครงสร้าง
นอกจากนี้ อีซีบีจะทดแทนการซื้อพันธบัตรด้วยการดึงเงินเป็นมูลค่าที่เท่ากันออกจากระบบ
หรือกระบวนการที่เรียกว่า Sterilization
การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปกป้องตนเองจากข้อกล่าวหาว่า
อีซีบีพิมพ์เงินเพื่อนำไปให้รัฐบาลใช้หนี้ ซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาสหภาพยุโรป
เพราะกระบวนการ Sterilization จะทำให้ซัพพลายของเงินในระบบอยู่ในระดับคงเดิม
การทำเช่นนี้จะทำให้มาตรการซื้อพันธบัตรของอีซีบีแตกต่างจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางอังกฤษ
มาตรการล่าสุดของอีซีบีจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่กำลังประสบปัญหาในการกู้เงินอย่างสเปนและอิตาลี
หลังจากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ต้นทุนกู้ยืมของทั้งสองประเทศพุ่งสูงขึ้นเกือบถึงระดับที่ถูกมองว่าไม่มีความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี เวลานี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเหล่านี้ที่จะร้องขอความช่วยเหลือแลกกับการอยู่ภายใต้เงื่อนไขรัดเข็มขัด
แม้ว่ารายละเอียดบางส่วนของแผนซื้อพันธบัตรของอีซีบีจะเป็นไปตามความคาดหมาย
แต่ตลาดเงินตลาดทุนต่างสะท้อนความพึงพอใจต่อมาตรการดังกล่าว
ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสเปน
ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันพฤหัสบดี (6 ก.ย.) มาอยู่ที่ 6.04% จาก 6.09%
ก่อนการประชุมอีซีบีจะเริ่มต้นขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสเปนก็ลดลงมาจาก 2.94% เป็น 2.87%
การเคลื่อนไหวของพันธบัตรระยะยาวนับว่ามีความสำคัญ
เพราะมาตรการของอีซีบีพุ่งเป้าไปที่พันธบัตรระยะสั้นเท่านั้น
ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ลดต่ำลงหมายความว่านักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยว่า
การเข้าแทรกแซงของอีซีบีจะนำไปสู่ทางแก้ปัญหาของวิกฤติยูโรโซนที่ซับซ้อน
"โดยรวมแล้ว อีซีบีนำเสนอเครื่องมือในการแก้ปัญหาใหม่ที่น่าจะช่วยซื้อเวลาได้"
คาร์สเทน เบอร์เซสกี นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็นจีในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ให้ความเห็น
แต่กล่าวเตือนว่า มาตรการดังกล่าวคงเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลที่อีซีบีทำได้มากที่สุดแล้ว
นายดรากีกล่าวเพิ่มเติมว่า อีซีบีจะขอความร่วมมือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ในการช่วยออกแบบเงื่อนไขของมาตรการใหม่
ซึ่ง นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวในแถลงการณ์ว่า
ไอเอ็มเอฟพร้อมร่วมมือภายใต้กรอบการทำงานของกองทุน
อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีบทบาทของไอเอ็มเอฟอาจทำให้สเปนขอรับการช่วยเหลือยากลำบากขึ้น
เนื่องจากแรงกดดันทางการเมือง
นายมาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน พยายามอย่างหนักที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สเปน
ต้องถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอจากทรอยก้า หรือตัวแทนจากไอเอ็มเอฟ สหภาพยุโรป และอีซีบี
เหมือนเช่นกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส
"เราสงสัยว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของทรอยก้าในมาตรการ OMT
อาจจะส่งผลให้สเปนต่อต้านการขอรับความช่วยเหลือหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจจะต้องมีแรงกดดันจากตลาดให้สเปนตกลงเข้ารับความช่วยเหลือ"
ริชาร์ด แมคไกวร์ นักยุทธศาสตร์จากโรโบแบงก์ กล่าว
ดังนั้นแม้ว่านักลงทุนจะตอบรับมาตรการของอีซีบี แต่ในอนาคตตลาดมีโอกาสเกิดความผันผวนขึ้นได้อีก
ถ้าสเปนพยายามระดมเงินทุนเพื่อมาใช้จ่ายให้ทันเดือนตุลาคมด้วยตัวเองโดยไม่ขอรับเงินช่วยเหลือ
ขณะที่นายราฮอยกล่าวภายหลังจากการหารือกับนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ในช่วงเวลาเดียวกับที่อีซีบีมีการประชุมว่า
ผู้นำทั้งสองประเทศไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือใดๆ
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,773 9-12 กันยายน พ.ศ. 2555
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น