ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ตั้งใจว่าจะหาบทความดีๆ มีคุณภาพ และให้แง่คิดมาลงบล็อกนี้บ้าง
เพราะการเทรดโดยใช้อินดิเคเตอร์เพียวๆ คงไม่น่าโสภาแฮปปี้เท่าไหร่นัก
บางทีก็ต้องมองไปข้างหน้า จินตนาการไปสู่อนาคตกันบ้าง
***
QE3 กับการปล้นครั้งใหม่!!!
โดย...ท่านขุนน้อย จากไทยโพสต์
เพื่อแก้เบื่อ แก้เอือมกับความชุลมุนวุ่นวายภายในเข่งไก่...
เห็นทีจะต้องหันไปพูดถึงเรื่องมาตรการ QE3 ของคุณพ่ออเมริกาน่าจะเหมาะกว่า
เพราะถึงแม้จะเป็นเรื่องไกลตา แต่ก็ใกล้ตีนมิใช่น้อย พูดง่ายๆ ว่า...
การที่คุณพ่ออเมริกาท่านมุ่งที่จะปั๊มเงินดอลลาร์ออกมาสู่ตลาดคราวแล้วคราวเล่า
ชนิดแทบจะท่วมโลกทั้งโลกไปแล้วก็ว่าได้
สุดท้ายแล้ว...มาตรการเหล่านี้ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแลนด์แดนสยามของหมู่เฮา
ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้แน่ๆ...
ถ้าไล่มาตั้งแต่ครั้ง QE1 หรือครั้งแรกที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ได้งัดเอาสิ่งที่เรียกว่า
มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) มาใช้เป็นตัวแก้ปัญหาเศรษฐกิจอเมริกา
ที่ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนต่างล้วนแต่มีหนี้สินอีนุงตุงนัง
ชนิดอาจต้องใช้เวลาอีกไม่รู้กี่ศตวรรษต่อกี่ศตวรรษถึงจะใช้หนี้ได้หมด
ในครั้งนั้นคุณพ่ออเมริกาท่านได้ปั๊มเงินดอลลาร์สดๆ ออกมา
โดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์ใดๆ ค้ำประกันการันตี เป็นจำนวนถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว
มาถึง QE2 ก็กดก็ปั๊มกันเข้าไปอีกถึง 6 แสนล้านดอลลาร์
ส่วน QE3 ที่โผล่ตามมาติดๆ เมื่อวันที่ 13 กันยา.ที่ผ่านมา เที่ยวนี้ว่ากันว่า...
อาจต้องปั๊มเงินออกมาไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80,000-100,000 ล้านดอลลาร์
นับจากต้นปีหน้าไปยันถึงปี ค.ศ.2015 หรือต่อเนื่องกันไปตลอด 5-6 ปี
ที่ถ้าหากนับรวมๆ กันแล้ว น่าจะไม่ต่ำไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย...
ส่วนมาตรการเหล่านี้มันจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจอเมริกา
ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยลดอัตราการว่างงานให้ลดๆ ลงไปได้บ้าง หรือไม่ อย่างไร
อันนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นเรื่อง...ของมึง (ขอประทานโทษ...ของท่าน)
ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังคงมีการเถียงกันไม่หยุด ไม่ว่าในหมู่ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจนอกอเมริกา
หรือในอเมริกาเอง กระทั่งในแวดวงธนาคารกลางของสหรัฐด้วยกัน
เห็นข่าวแวบๆ ว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดลเฟีย
ถึงกับออกมายำมาตรการเหล่านี้ชนิดเละตุ้มเป๊ะ
เล่นเอาแมลงเม่า แมงกระชอน ในตลาดหุ้นทั่วโลกหวาดหวั่น ขวัญผวากันชนิดปีกร่วง ปีกหลุด
ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ นิกเกอิ ฮั่งเส็ง ร่วงกันไปไม่รู้กี่จุดต่อกี่จุด
กว่าจะหายตื่นเต้น ตื่นตูม ก็ต้องปลุกปลอบขวัญกันไปมิใช่น้อย...
ภาพจาก www.churchstate.us |
แต่สิ่งที่น่าคิดน่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า...
การปั๊มเงินดอลลาร์สดๆ ออกมาระลอกแล้วระลอกเล่าเช่นนี้
แม้ว่าจะอ้างว่าเพื่อเอาไปซื้อตราสารพันธบัตร และสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ
อันจะเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับระบบเศรษฐกิจของอเมริกา
หรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน และเพิ่มการจ้างงานไปในตัว
แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ดูเหมือนว่าเงินเหล่านี้มันจะไม่ได้ไหลเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจภายในอเมริกา
ไปช่วยหล่อเลี้ยงเส้นเลือดของบรรดาอเมริกันชน โดยเฉพาะประเภทปุถุชนคนธรรมดา
หรือคนยากคนจนซักเท่าไหร่นัก หรือไม่ได้ก่อให้เกิดการลงทุนการจ้างงานในสังคมอเมริกันอะไรกันมากมาย
แต่มันกลับจะทะลักออกมานอกอเมริกา หรือกลับไหลทะลักออกมาท่วมโลกทั้งโลกซะเป็นหลักใหญ่...
อันเป็นไปตามธรรมชาติของเงินตรานั่นเอง...คือที่ไหนที่มันมีผลประโยชน์ มีกำไร
เงินมันมักจะต้องไหลไปที่นั่นตามคุณลักษณะทางธรรมชาติของมัน
ในเมื่อแหล่งผลิต หรือฐานการลงทุนโดยส่วนใหญ่มันย้ายออกมาอยู่ในเอเชีย
หรือในประเทศเศรษฐกิจใหม่กันแทบจะหมดแล้ว
ไม่ว่าคุณพ่ออเมริกาท่านจะปั๊มเงินดอลลาร์ออกมาซักเท่าไหร่
เงินเหล่านั้นมันก็จะติดปีกออกไปหา "กำไร" จากแหล่งผลประโยชน์ต่างๆ นานาในทั่วทุกซีกโลก
และโดยธรรมชาติของเงินตราอีกนั่นแหละ ที่ทำให้มันคงไม่ได้คิดจะหากำไรจากการลงทุนในแบบปกติธรรมดา
แบบมีจริยธรรม มีธรรมาภิบาล อย่างที่เพ้อๆ กันไป
หรืออย่างที่พวกชอบมั่วๆ อยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ ในตลาดหุ้นบ้านเราเคยพูดๆ เอาไว้นั่นแหละว่า
"อย่าอุ้มพระเข้ามาในตลาดหุ้น"
การไหลทะลักของเงินดอลลาร์ออกไปท่วมโลกทั้งโลก
มันจึงมักก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ หรือการลงทุนในแบบที่เรียกว่า การเก็งกำไร
ไม่ว่าจะเป็นการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดหุ้น
หรือแม้กระทั่งในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของแต่ละประเทศ
ที่เงินดอลลาร์อเมริกัน มันจะหลากไหลเข้ามาไม่ต่างไปจากน้ำป่าไหลหลาก
หรือน้ำท้น น้ำเอ่อ น้ำแฉะ น้ำขังก็แล้วแต่จะเรียก...
อย่างที่ศาสตราจารย์ ไมเคิล ฮัดสัน แห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี อดีตนักเศรษฐศาสตร์วอลสตรีท
ท่านเคยได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ตั้งแต่ครั้ง QE1 แล้วว่า
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอเมริกาต่ำเตี้ยเพียงแค่ระดับ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ถ้าหากพวกบ้าเงินบ้าทองรายใด ใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 1 ล้านดอลลาร์
แล้วไปกู้เงินจากธนาคารอเมริกันที่ต่างได้รับการอุ้มชู อัดฉีด
จากมาตรการดังกล่าวมาอีกซัก 99 ล้านดอลลาร์ รวมเป็น 100 ล้านดอลลาร์
แล้วเอาเงินที่ว่าไปซื้อเงินหยวน หรือเงินเหรินหมินปี้ของจีนเอาไว้ซักพัก
และเมื่อไหร่ที่สหรัฐฯ สามารถกดดันจีนให้ต้องขึ้นค่าเงินหยวน
ให้เพิ่มขึ้นไปอีก 20 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าหมายที่เคยป่าวประกาศมาโดยตลอด
เงิน 100 ล้านดอลลาร์ของพวกบ้าเงินบ้าทองรายนั้น ก็จะกลายเป็นเงิน 120 ล้านดอลลาร์ไปโดยทันที
หรือ แค่ลงทุน 1 ล้านเท่านั้น ได้กำไรเพิ่มขึ้นมาถึง 20 ล้านดอลลาร์
หรือกำไรถึง 200 เปอร์เซ็นต์เหนาะๆ...
ในทัศนะของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์รายนี้...มาตรการ QE ของสหรัฐจึงถูกสรุปเอาไว้ว่า
ไม่ต่างอะไรไปจาก การปล้น เราดีๆ นี่เอง ด้วยเหตุนี้...
ในแต่ละครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐงัดเอามาตรการดังกล่าวออกมาใช้ชนิดคราวแล้วคราวเล่า
บรรดาประเทศต่างๆ จึงต้องระวังกระเป๋าของตัวเองเอาไว้ให้ดี ไม่ใช่อ้าขา ผวาปีก
หมกมุ่น มัวเมาอยู่กับการขึ้นๆ ลงๆ ในตลาดหุ้นโดยไม่ได้คิดหน้า คิดหลัง คิดถึงประเทศตัวเอง
สังคมตัวเองเอาไว้เลย เพราะไม่ว่าประเทศยักษ์ใหญ่ หรือยักษ์ใหม่ อย่างอินเดีย
หรือแม้กระทั่งจีน ยังเคยต้องโหยหวน ครวญคราง กับมาตรการเหล่านี้มาโดยตลอด
ต้องหาทางทำให้เงินสกุลของตัวเองไม่แข็งค่าจนเกินไป ต้องควบคุมปริมาณเงินไหลเข้า
ต้องหาทางยับยั้งฟองสบู่จากการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ต้องพยายามรักษาความสมดุลระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับภาวะเงินเฟ้อเอาไว้ให้ดี
แม้แต่ประเทศไทยแลนด์แดนสยามของหมู่เฮาก็เถอะ
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผลตอบแทนระดับ 3 เปอร์เซ็นต์
แต่พันธบัตรสหรัฐระยะ 2 ปีให้ผลตอบแทนเพียงแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
กระทั่งระยะ 10 ปี ยังให้แค่ 1.8 เปอร์เซ็นต์
โอกาสที่เงินดอลลาร์มันจะไหลทะลักเข้ามาฟันส่วนต่างกำไรกันแบบจะจะ
เห็นๆ ย่อมเป็นอะไรที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย
เฉพาะการปล้นคราวที่แล้วช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งก็ฉิบหายกันไปแทบทั้งประเทศ
ครั้งนี้...ก็พึงระวังเอาไว้ให้ดีเถิด โดยเฉพาะผู้ที่ถนัดในการใช้จ่ายแบบอีลุ่ยฉุยแฉกซะจนเคย
ขนาด QE3 ยังไม่ทันออกฤทธิ์ก็ดันออกอาการ ถังแตก ซะแว้ว!!!
ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จาก โสเครติส...
“ผู้ที่มีความพอใจต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองมีอยู่ คือผู้ที่ร่ำรวยที่สุด
เพราะความสันโดษ (ความพอเพียง) คือทรัพย์ของธรรมชาติ...”
เครดิตจาก : อิสรภาพแห่งความคิด thaipost