31 ธันวาคม 2555

ปีเก่าผ่านไป...ปีใหม่ผ่านมา...

และแล้ววันสุดท้ายของปี 2013 (พ.ศ. 2555) ก็เคลื่อนหมุนมาจนได้
บางคนอาจใจหายวูบ บางคนอาจใจไห้หวน หรือบางคนอาจใจสุขล้นพ้น
แต่ที่แน่ๆ นั้น ทุกๆ คนย่อมอายุมากขึ้น แก่ขึ้น เติบโตขึ้น...


ขณะที่วิชาหรือวรยุทธ์ เทรด Forex สำหรับผมแล้วยังแผ่วร่วงตลอดปีนี้
กล่าวง่ายๆ คือ เทรดไปเล่นไปก็เรียบราบพอร์ตแล้วพอร์ตเล่า ล้างแล้วล้างอีก
เห็นที...อนาคต "เทรดเดอร์อิสระ" นั้นคงยังห่างไกล
และไม่แคล้วต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกหลายปีดีดักแน่ๆ
หรือจะเปลี่ยนจาก "เทรดเดอร์" มาเป็น "ไรเตอร์" ซะให้รู้แล้วรู้รอดดีหนา
เผื่อว่าการเป็นนักเขียนนิยายไทยอาจพอมีความหวังมากกว่าจะมาเป็นนักแสวงหากำไรค่าเงิน

ทว่าที่สุด...เมื่อพอร์ตหายพอร์ตหดก็คงต้องอดทนเทรด เงินปลอม ต่อไป...
ประมาณว่า ทำซ้ำๆ เทรดไปเรื่อยๆ ให้สายตาชินกับกราฟ เพราะถึงเทรดเสียก็หาใช่เงินจริง!!
แม้นว่าจะพยายามเทรดดั่งว่านี่คือบัญชีเงินจริงก็ตาม แต่ที่สุดก็ยังเสีย ไม่ใช่สิ พลาดพลั้งตลอด
สงสัยว่าปี 2013 อาจเป็นอีกปีหนึ่งที่ยังต้องเล่น Demo โอ้ละเห่ไปพลางๆ ก่อน
ขณะเดียวกันก็พยายามจะหาเวลาเพื่อย้อนอดีตดูผลงานเทรดห่วยๆ ที่ล้มเหลวของตนเอง
ผมไม่โทษตลาดหรอก แต่นึกตำหนิตัวเองมากกว่า อยากเขกกบาลที่มีขี้เลื่อยอยู่เต็มสมอง
หรืออยากตัดมือที่ชอบอยู่ไม่สุข ลุกลี้ลุกลน เพราะตัดอารมณ์ที่กระหายใคร่โลภไม่ได้สักกะที

แต่ไม่เป็นไร อย่างที่บอกว่า ตรูเทรดเงินปลอม โว้ย เสียหรือพอ์รตก็ช่างมันปะไร
ช่างมัน...ฉันไม่แคร์ วันนี้แพ้ พรุ่งนี้ขอเงินเดโมใหม่มาเทรดต่อ ตรูไม่สน no worry ใดๆ
จะจ่อมจมเทรดกี่ปีกี่ปีก็ปล่อยๆ ไป เผื่อว่าวันหนึ่งวันใดจะหยั่งรู้หรือค้นพบวิชามารสำเร็จ 55+

ไหนๆ ปีเก่าก็จะผ่านไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงแล้ว (แก่ขึ้นไปอีกปีโดยไม่ได้เจตนานะนี่)
ปีเก่าผ่านไป...ปีใหม่ผ่านมา...
วัฏจักรแห่งความเป็นจริง ที่ไม่เหมือนการขึ้นและลงของกราฟฟอเร็กซ์

ขออวยพรให้ในปีหน้า 2013 นักเทรดชาวไทยจงประสบผลสำเร็จรุ่งในตลาด Forex
พอร์ตโตวันโตคืน ถอนกำไรได้ทุกสัปดาห์ทุกเดือน และมีความสุขกันถ้วนทั่ว


22 ธันวาคม 2555

พอร์ตเกือบไม่รอด!!

ราวๆ วันพุธกับพฤหัสฯ พอร์ตเงินปลอมนี้ขึ้นแดงโร่...สัญญาณเตือนอาการโคม่าจี้จ่อรินๆ
ด้วยสกุลเงินยูโรกับปอนด์แข็งค่าดังหินผาสูง EU 1.3307 ขณะ EJ 112.48 และ GU 1.6306
สร้างความหวาดเสียวและหวั่นไหวเสมือนว่าเทรดเงินจริงๆ ยังไงยังงั้น ตุ้มๆ ต่อมๆ
โดยอาศัยกราฟ Day เป็นกำแพงผิงหลัง ทั้งเพ่งจิตกดให้อินดิเคเตอร์ไทม์เฟรมเดย์เกิดสัญญาณลงซะที

นับว่าโชคยังพอมี...เงินในพอร์ตยังพอไหว...
ที่รอดตัวมาได้เพราะไม่กล้าลง Lot หนัก
หากมุทะลุหรือเดือดระห่ำเปิดออเดอร์ (Size) ล็อต 2 ล็อต 3 
ป่านนี้พอร์ตหายไปแล้ว... ว่ากันตามจริงแล้ว 
ก็ยังมิอาจควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างที่ตั้งใจไว้สักเท่าใด
ยิ่งเปิด MT4 แล้วเฝ้ามองราคาขยับเคลื่อนไหวทีไร 
มือและใจอยู่ไม่เป็นสุขสักกะที มันคันยิบๆ ยุบๆ
ให้ร้อนรุ่มเซ่อซ่านอยากเข้าตลาด อยากเทรด 
อยากเปิดออเดอร์ อยากเบิลล็อตเอาคืน!?!
ประหนึ่งนักรบร่างโชกเลือดที่คว้าดาบหักๆ บิ่นๆ 
แล้ววิ่งเข้าสู่วงล้อมของศัตรูที่มีกำลังพลมากกว่าหลายเท่า...

หลังๆ มานี้...ผมไม่ค่อยมีเวลาดูกราฟสักเท่าไร ไม่แม้แต่ตามอ่านข่าวสารเศรษฐกิจโลก
อย่างมากที่ดูก็แค่เว็บข่าว Forex Factory เท่านั้น ซึ่งบางทีข่าวออกมาก็สวนทางกับราคาซะนี่
เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับตลาดค้าเงินช่างเดาใจและเอาใจยากเหมือนกัน
ราคาที่น่ากลัวที่สุดอาจคือการเปิดออเดอร์ที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดก็ได้ ทว่าใจไม่ถึง!!! (เอง)
อย่าง EU หรือ EJ ใครกล้าเปิด buy ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. และใจเย็นถือไว้คงยิ้มแก้มปริ กำไรๆ
ทว่าไม่ใช่ผม! ด้วยผมกลัวติดดอยอ่า ขนาดบัญชีเดโม ใจยังไม่กล้าเข้าซื้อเลย เหอะๆ (ใจฝ่อ)

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา...จึงตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลั้งและตั้งรับในฐานะเปิด sell สู้แบบเดิมๆ
ออเดอร์ที่ติดลบก็ไม่ปิด ไม่ตัดทิ้ง ไม่ SL ใดๆ ทั้งสิ้น เกาะติดตลาดฟอเร็กซ์อย่างห่างๆ และหวาดๆ
เล่นสไตล์เดิมๆ คือตั้ง TP ไว้ รอเวลาเคลื่อนมาชนตูมๆ ทว่าหลายๆ ครั้งเกือบชนแล้วก็หักเหไปซะดื้อๆ
จากออเดอร์ที่กำไรก็กลายเป็นติดลบทันที จนบางทีต้องตัดกำไรเล็กๆ ด้วยตัวเองไว้ก่อน

ผลปิดเทรด Forex วันที่ 10 - 21 ธันวาคม 2555
"สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร"
ขณะที่ในสมรภูมิแนวรบ Forex ยังต้องดูกันไปเรื่อยๆ อย่างใจเย็นๆ
ส่วนจะม้วนเดียวจบ หรือเป็นละครยืดยาว หรือเป็นหนังไตรภาค หรือมหากาพย์
อีกไม่ช้าไม่นาน...คงมีคำตอบ เพราะสนามรบนี้เราเลือกเองนี่นา
จะส่งทัพเล็กไปหยั่งราคา หรือจะส่งทัพใหญ่ไปเผด็จศึก ก็จัดออเดอร์เทรดกันตามสบาย

ยังไงๆ เทรดเงินจริง...ก็ระวังจะเป็นแมงเม่าโดนเผาราบหน้าตลาด Forex ละกัน

15 ธันวาคม 2555

ความกังวลวิกฤตหน้าผาการคลังสหรัฐฯ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันพุธ (12 ธ.ค.)
ได้ประกาศใช้อัตราการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อ
มาเป็นเงื่อนไขกำหนดแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
ซึ่งถือเป็นมาตรการใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยทำกันมาก่อน 
ขณะเดียวกัน เฟดยังคลอดโปรแกรมรับซื้อพันธบัตรคลังรอบใหม่
ซึ่งก็คือการดำเนินการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพื่อมุ่งกระตุ้นการเติบโตต่อไปอีก
ทั้ง นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้ออกมาเตือนนักการเมืองให้รีบเร่งผ่าทางตัน “หน้าผาการคลัง
      
ในความพยายามที่จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายให้มีความชัดเจนมากขึ้น
หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟดฟันด์เรต)
ได้ตรึงอยู่ที่ระดับต่ำเตี้ยติดดิน 0 - 0.25% มาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว
เฟดแถลงว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ตราบเท่าที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่า 2.5%
และอัตราการว่างงานยังอยู่เหนือ 6.5% โดยที่ในปัจจุบันอัตราการว่างงานสหรัฐฯ อยู่ที่ 7.7%
      
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี)
ซึ่งประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันว่ายังคงเติบโตได้ในระดับพอประมาณเท่านั้น
ก็ได้ริเริ่มโปรแกรมซื้อพันธบัตรคลังระยะยาวครั้งใหม่ในปริมาณเดือนละ 45,000 ล้านดอลลาร์
เพื่อใช้แทนที่โปรแกรม “โอเปอเรชัน ทวิสต์” ที่จะหมดอายุลงสิ้นปีนี้
      
ปฏิบัติการล่าสุดจะทำให้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE)
ทั้งหมดที่เฟดดำเนินการอยู่มีมูลค่าเท่ากับเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์
โดยตามมาตรการเหล่านี้มีทั้งการรับซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลัง และหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน
ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือการดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลงมา จะได้ส่งเสริมเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุน
      
“เอฟโอเอ็มซียังคงกังวลว่า หากปราศจากการผ่อนคลายทางนโยบายการเงินเพียงพอ
การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะหนุนนำการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในตลาดแรงงาน”

เฟดอธิบายเอาไว้ในคำแถลงซึ่งออกมาภายหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีเป็นเวลาสองวัน
      
นายเบอร์นันเก้กล่าวในการแถลงข่าวหลังประชุมเอฟโอเอ็มซีโดยย้ำว่า
ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตต่อไปในระดับพอประมาณ แต่ยังถูกเหนี่ยวรั้งด้วยอัตราว่างงานสูง
ซึ่งทำให้ศักยภาพของมนุษย์ตลอดจนเศรษฐกิจต้องสูญเปล่าไปอย่างมหาศาล
      
เบอร์นันเก้ยังเตือนว่า รัฐสภาและทำเนียบขาวต้องเร่งหาทางคลี่คลายวิกฤตหน้าผาการคลัง Fiscal Cliff
ที่อาจดันเศรษฐกิจอเมริกากลับสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า
พร้อมย้ำว่า แนวโน้มของภาวะหน้าผาการคลังจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ
รวมทั้งการตัดสินใจจ้างงานแล้ว จากการสร้างบรรยากาศของความไม่แน่นอนและการมองโลกแง่ลบ

“ผมหวังว่ารัฐสภาจะทำในสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องหน้าผาการคลัง ปัญหากำลังใกล้จะเกิดขึ้นทุกขณะ
และเฟดไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากภาวะหน้าผาการคลังได้ เพราะนั่นเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก"

เบอร์นันเก้กล่าว

ขณะที่เหลือเวลาอีกประมาณสองสัปดาห์ก็จะถึงวันที่ 1 มกราคม 2013
คือเส้นตายการขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ หรือภาวะ “หน้าผาการคลัง
แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครตกับสมาชิกสภาของรีพับลิกัน ยังประนีประนอมกันไม่ได้
"ท่านประธานาธิบดีต้องการอวดอ้างว่าการใช้จ่ายไม่มีปัญหา 
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรายังถึงตกลงกันไม่ได้"
นายจอห์น โบเนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พรรครีพับลิกันกล่าวต่อสื่อมวลชน
และความเห็นนี้เองที่ก่อความกังวลต่อนักลงทุนไม่น้อย

แต่นักวิเคราะห์มองว่าการออก QE4 ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านต่อเดือน
จะส่งผลให้ทิศทางดอลล่าร์สหรัฐฯ มีการอ่อนค่าลงต่อและหนุนราคาทองคำในระยะต่อไป
โดยสัปดาห์ที่จะถึงนี้ต้องจับตาผลการเลือกตั้งญี่ปุ่น หากพรรค LDP ได้รับเสียงข้างมาก
อาจทำให้ BOJ ถูกกดดันให้ผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น

[การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) โดยคาดกันว่า
พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ “แอลดีพี” (Liberal Democratic Party; LDP)
จะได้ชัยชนะกลับมาเป็นพรรครัฐบาลอีกครั้ง]

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซนนั้น
ล่าสุดนายปิแอร์ มอสโควิซี รมว.คลังฝรั่งเศส กล่าวว่า
บรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกลไกกำกับดูแลภาคธนาคารที่เป็นหนึ่งเดียว
ร่วมกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว
โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นหลังการประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (อียู)
ได้ยืนยันรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าอียูได้ดำเนินการก้าวแรกที่มีความสำคัญในการจัดตั้งสหภาพการธนาคาร

ทางด้านกรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ยุโรปในสัปดาห์หน้าเป็นจำนวนเงินเกือบ 5 หมื่นล้านยูโร
เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ทำให้ต้องออกจากยูโรโซน

8 ธันวาคม 2555

ฟอเร็กซ์ที่รัก...

คงจำกันได้กับโพสต์บทความ 3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์ ของเม่าๆ อย่างผม
ซึ่งในที่สุดก็บินไปไม่ถึงไหน โดนเผาไหม้พอร์ตหายไปตามสภาพแบบเจ็บใจพอควร
ซึ่งก็เป็นอีกบทเรียนที่ต้องไตร่ตรองเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก...
อารมณ์และการบริหารเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด
เพราะอารมณ์และความรู้สึกของเรานั้นยากที่จะนิ่ง สงบ และควบคุมได้เสมอต้นเสมอปลาย
พลาดผิดหรือเทรดฟอเร็กซ์ด้วยอารมณ์ดุเดือดเพียงไม่กี่ครั้งก็อาจน้ำตาตกได้ถ้าเป็น "เงินจริง"


ส่วนผมก็ประเภทม้าตีนต้นวิ่งดี ออกตัวสวย 
ทว่าวิ่งๆ ไปก็สะดุดล้มคะมำเอาดื้อๆ 
ฉะนั้น...ตอนนี้...ผมจึงพยายามฝึกฝน
การควบคุมอารมณ์และจิตใจ ไม่วู่วาม
อดทนอดกลั้นรอเวลาและราคาที่ปลอดภัย
และสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุด รับได้ที่สุด
โดยไม่ใจร้อนด่วนโลภลง Lot ที่หนักมาก
เพียงหวังจะเอาคืนออเดอร์ที่ติดลบ



เอาใหม่!!! เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ข้าน้อยได้ร้องเรียกเงินปลอมมาลองเทรดใหม่สัก 5,000$
ก็ลอง "คลิก" อ่านตามบทความ ลุยต่อบ่ยั่นกับ Forex  นี้นะครับ
ผ่านไปประมาณสิบห้าสิบหกวัน...ไวเหมือนนิทานอีสปยังไงยังงั้น
มาลองดูผลเทรด Forex กรุ่นๆ ซึ่งต่อเนื่องจากบทความที่ว่าดูกัน...

ผลปิดเทรด Forex 29 พ.ย. - 06 ธ.ค. 2555
ผลปิดเทรด Forex 6 ธ.ค. - 7 ธ.ค. 2555
ถ้าสังเกต...ผมจะไม่เล่นแค่ "คู่เดียว" ให้สยิวหัวใจ และปิดโอกาสตัวเองให้คับแคบ
ยามเทรดได้กำไรก็มีเผ่นปิดออเดอร์ออกจากตลาดฟอเร็กซ์บ้าง (ทั้งที่อยากถือยาวๆ)
ด้วยไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว อย่างน้อยๆ ปิดกำไรบ้างแล้วค่อยหาจังหวะเปิดใหม่ก็ไม่เสียหลาย
ผมมองกราฟค่าเงิน 9 คู่ เพื่อไว้เปรียบเทียบและหากคู่ไหนเห็นราคาขึ้นหรือลงสุดๆ จะจับจ้องไว้
เพราะคิดง่ายๆ ว่ายังไงราคาก็ต้องมีการปรับฐาน อินดี้ปรับสมดุล โดยใจเย็นๆ รอ...รอๆ...
อีกทั้งผมไม่ดู TF เล็กให้สิ้นเปลืองเวลานาที ด้วยผมไม่เคยตั้ง SL แต่รักจะตั้ง TP
เทรดฟอเร็กซ์เป็นการ "เก็งกำไร" มิใช่ "การพนัน" มิเช่นนั้นอาจหมดตัวได้ง่ายๆ

รอราคาร่วงๆ แล้วในที่สุด...
สรุปคร่าวๆ ว่า 15 วันกับการเทรดบัญชีเงินเดโม สามารถทำกำไรได้มา 1,500$ (ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ละกัน)
ทว่าในระยะยาวๆ ยังต้องดูกันต่อไปอีก นึกเสียดายว่าถ้าเป็นเงินจริงคงเบิกกำไรออกมาละ
แล้วใช้ทุน 5,000$ เทรดต่อไป...ฝึกฝนต่อไป...ค้นหาต่อไป...

อินดิเคเตอร์ ผมก็ใช้แบบเดิมๆ นะ ไม่รู้จะแสวงหาตัวไหนเพื่อทำไมกัน---
ใช้ตัวที่คุ้นๆ รู้ใจพอ ที่เหลือก็อยู่ที่จิตใจกับอารมณ์ หรือการลง Lot ล่ะ
สไตล์ผมนั้นพิจารณาดูที่ไทม์เฟรม H1 ขึ้นไป แต่ที่ชอบดูคือ H4 กับ Day

ไหนๆ แล้วก็ขออัพบัญชี Myfxbook ใหม่ เป็น >>> DreamFX
หวังว่า...ปีหน้า ฟอเร็กซ์ที่รัก ผมจะรักษาบัญชีนี้ได้นะ ><

7 ธันวาคม 2555

ข่าวนอน-ฟาร์มส่งท้ายปี 2012

นานๆ จะมาอัพเดทเรื่องข่าวเศรษฐกิจและข่าวฟอเร็กซ์สักรอบ
ด้วยคืนนี้...ก่อนสิ้นปี 2012 กับข่าวนอน-ฟาร์มส่งท้ายปี
จับตา ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในคืนนี้กัน
โดยนักวิเคราะห์ให้น้ำหนักเชิงบวกต่อตัวเลขดังกล่าว

ภาพจาก commodityonline.com
กระแสข่าว Fiscal Cliff ที่จะออกมา
ซึ่งข่าวโดยส่วนใหญ่คิดว่าจะตกลงกันได้ในสัปดาห์หน้า
และคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะแก้ปัญหา
หน้าผาทางการคลังได้สำเร็จก่อนช่วงสิ้นปีนี้
โดย ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุว่า
ข้อตกลงในการสกัดกั้นปัญหา Fiscal Cliff
อาจจะมีความเป็นไปได้ภายในหนึ่งสัปดาห์
หากรีพับลิกันจะประนีประนอมเกี่ยวกับอัตราภาษี
หากอยากศึกษาอ่านเรื่อง
เชิญคลิก!!
>> หน้าผาทางการคลังคืออะไร (Fiscal Cliff)? 


การซื้อขายของตลาดค้าเงินเมื่อวานนี้
สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง โดยราคาร่วงมาอยู่ที่ประมาณ 1.2970 เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์
ซึ่งสาเหตุที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่
นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารยุโรปแสดงมุมมองที่เป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน
และยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในยูโรโซนด้วย
ประธาน ECB กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มอ่อนแอลงไปจนถึงปีหน้า
โดยข้อมูลเชิงสถิติและผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะอ่อนแอลงไปจนถึงไตรมาส 4 ปี 2556
และคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งคือช่วงปลายปี 2556
เนื่องจากตลาดการเงินเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและจากผลกระทบในด้านบวกของการใช้นโยบายผ่อนคลายของอีซีบี
ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากจำนวนคนว่างงานของสหรัฐฯ ที่ลดลงเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งการประชุมและประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งยุโรปและอังกฤษ
ซึ่งยังคงที่ที่ 0.75% และ 0.50%
ขณะเดียวกัน ECB ได้ยืดอายุมาตรการปล่อยกู้ระยะกลาง (MRO) ให้กับธนาคารต่างๆ ในยูโรโซนต่อไป
อีกกว่า 6 เดือนไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2013

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 14.45 น. ยอดดุลการค้าในฝรั่งเศส (French Trade Balance)
• เวลา 16.30 น. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอังกฤษ (Manufacturing Production)
• เวลา 18.00 น. ตัวเลขผลผลิตสภาอุตสาหกรรมในเยอรมนี (German Industrial Production)
• เวลา 20.30 น. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐฯ (Non-Farm Employment Change)
• เวลา 20.30 น. อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ (Unemployment Rate)
• เวลา 20.30 น. ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงรายเดือนในสหรัฐฯ (Average Hourly Earnings)
• เวลา 21.55 น. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นสหรัฐฯ (Prelim UoM Consumer Sentiment)

30 พฤศจิกายน 2555

ลุยต่อบ่ยั่นกับ Forex

หลังจากโดนสอยร่วงพอร์ตเงินปลอมหายแบบน่าเจ็บปวด
เป็นอีกบทเรียนในหลายๆ กรณีที่เกิดซ้ำเกิดซาก ทว่าดันไม่จดไม่จำ
ประมาท เลินเล่อ ถือดีอวดดี คิดเองเออเอง บ้าดีเดือด และไม่เจียมตัว
กำไรที่เพียรสะสมมาสามเดือนก็อันตรธานวับไปแบบม้วนเดียวจบดื้อๆ

ไม่เป็นไรๆ ได้แต่บอกตัวเองว่า...ไม่เป็นไร ยุบหนอพองหนอ
ก็แหม...เทรดเดโมนี่นะ ทว่าก็ต้องคิดและทบทวนวิธีการเทรดของตัวเองเช่นกัน
ค้นหาจุดบกพร่อง อารมณ์ที่ยังไม่นิ่ง ไหนจะความบ้าที่ยากควบคุมอีก
ฟอเร็กซ์ๆๆ ใครว่าง่าย? 
Forex ใครคิดว่าคือแหล่งแสวงกำไรแสนสบาย?
เมื่อได้ลงสนามแล้วจะรู้...ร้อยพันคำบอกเล่ามิเท่าได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง
ยิ่งกับภาวะอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ ทั้งความโลภ ทั้งความลวง
ทั้งทุนทรัพย์ ทั้งความทุ่มเท และทั้งเทคนิคการเทรด
โอ้! สนามรบตลาดเงินตรานั้นช่างน่าพิสมัยโดยแท้...


เอาใหม่...ลุยต่อบ่ยั่น...ฝึกปรือและค้นหาไปเรื่อยๆ สักวันล่ะน่าคงค้นพบแนวทางของตัวเอง
แล้วในวันที่ 22 พฤศจิกายน ข้าน้อยก็ร้องเรียกเงินปลอมมาลองเทรดใหม่สัก 5,000$
มาดหมายพลิกพลิ้วกระบวนท่าและปรับอารมณ์อีกครั้ง ครานี้จะลองฝึกสภาวะจิตใจไปด้วย
พยายามจะใจเย็นๆ มือไม้ห้ามซุกซน ต้องรู้จักอดกลั้น อดทน แล้วก็ลดความอวดโอ่ลงบ้าง

เปิดกราฟคู่เงินมา 9 คู่เลย ไล่ดูไทม์เฟรม H1 อัพขึ้นไป...เน้นกราฟ H4 กับ Day เป็นหลัก
อาจแวบดูกราฟ Week บ้าง ส่วนอินดิเคเตอร์ก็ยังใช้แบบเดิมๆ ที่คุ้นๆ ตา

Forex แบบบ้านๆ และเม่าๆ

ค่อยๆ เก็บกำไรทีละนิดละน้อย...รุกบ้าง ถอยบ้าง กลัวบ้าง อะไรบ้าง
มองกราฟบ่อยๆ ก็กดดัน ละล้าละลัง เห็นราคาเคลื่อนแล้วก็อยู่ไม่สุข กุกๆ กักๆ อย่างจะเข้าตลาด
ช่วงนี้...ก็พยายามฝึกการเปิดออเดอร์ การลง Lot ที่สมดุลกับมาร์จิน
"ความไม่แน่นอนมีอยู่เสมอในตลาดค่าเงินนี้" เงินทองไม่ใช่ใบไม้จะเด็ดได้ดั่งใจปรารถนา
หลายๆ ครั้ง กราฟทำให้เราเจ็บปวด บ่อยครั้งการเคลื่อนไหวของราคาทำให้เราเจ็บใจ

ท่านใดอยากเทรดเงินจริงก็ตามสบายนะครับ แต่ผมตอนนี้คง "ไม่"
ด้วยปัจจัยส่วนตัวหลายๆ อย่าง ลงเงินจริงไม่แคล้วเป็นเม่าโดนเผาและสูญเสียเงินฟรีๆ แหงๆ
อีกทั้งยังอ่อนประสบการณ์ วิชาเทรดฟอเร็กซ์ยังไม่แข็งกล้า และยังต้องค้นหาแนวทางของตัวเองต่อไป
ทว่าไม่ว่าจะใช้เวลานานสักเท่าใด ผมรอได้เสมอ ไม่รีบ ไม่เร่ง และไม่อยากทุรนทุราย
มีบทเรียนมาแล้ว เสียเงินจริงมาแล้ว ทั้งสมาธิ อารมณ์ และจิตใจก็ยังสามวันดีสี่วันบ้าอีก
เห็นทีคงต้องฝึกวรยุทธ์เทรด Forex กันยาวๆ ทำความคุ้นเคยให้มากๆ
ที่สำคัญ...เทรดกี่ทีกี่รอบก็ไม่ชอบตั้ง SL สักทีนี่สิ ช่างแก้ยากจริงๆ

 Forex - 30 พฤศจิกายน 2555
พยายามบอกตัวเองว่า...ใจเย็นๆ
ชีวิตมีโชคมีเคราะห์ มีขึ้นมีลงฉันใด กราฟฟอเร็กซ์ก็มีขึ้นมีลงฉันนั้นแล--

22 พฤศจิกายน 2555

สุดท้ายก็อีหรอบเดิม...

และแล้วก็ไปไม่รอด Sell EJ กับ UJ แบบเมามันส์ในอารมณ์ เห็นราคาแล้วคันไม้คันมือวุ้ย
เชื่อจริงๆ ว่าตลาดฟอเร็กซ์นั้นโหดร้ายและแปรปรวนผันผวนยิ่งกว่าพายุทอร์นาโด...
ลองใส่ล็อตหนักๆ เล่นดูบ้าง แล้วก็ใช้สไตล์เดิมๆ เทรดโดยดูแค่ MACD กับ Stoch ที่ H4
พร้อมกับคิดว่าราคาน่าจะวิ่งขึ้นไปได้อีกไม่เท่าไหร่ อย่างน้อยๆ ก็กดดันหรือกิน SL เหล่าขาเซลล์
หรือให้ขาบายคายของออกมาบ้าง ก่อนที่จะโดนทุบราคาร่วงผล็อย แต่เปล่าเลย...
ราคายังพุ่งขึ้นทำไฮท์ไปเรื่อยๆ พอดูแท่งเทียนที่ไทม์เฟรม Day แท่งเขียวไต่ระดับขึ้นเป็นขั้นๆ
แถมโหดแบบไม่มีการปรับพักฐานลงมาให้พอผ่อนหายใจได้ปิดกำไรบ้าง

มาตรแม้นจะตั้ง TP ไว้ ทว่ามันก็ไม่ยักปรับราคาลงมาแตะจุมพิตเลย
ยิ่งขึ้นๆ ผมก็ใส่ออเดอร์เซลล์เพิ่ม พลางคิดว่าลงมามีกำไรจะปิดหนีทันที
ก็อย่างว่า...ราคาแบบนี้ มีสักกี่คนจะกล้า buy ล่ะ...
จะว่าเป็นราคาที่น่ากลัวที่สุดและอันตรายที่สุดก็ได้ถ้าจะช้อนซื้อไว้
จริงๆ กราฟราคาในลักษณะวิ่งไปวันเวย์ทางเดียวแบบนี้ก็เจอหลายครั้ง
ทว่าก็ไม่กล้าจะ Follow ตามสักที สัญชาตญาณมักบอกให้เล่นอีกทาง
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ผมผิดพลาดเองทั้งนั้น...และบริหารทุนไม่ดีด้วย


คืออย่างถ้าตั้งใจจะเล่น Sell EJ กับ UJ แล้วรอราคาให้มันขึ้นมาสูงสุดๆ แบบใจเย็นๆ ก็คงจะดีกว่านี้
เสมือนอารมณ์ยังไม่นิ่ง แถมยังโลภด้วย ที่สำคัญผมระห่ำอยากเอาชนะกราฟโดยตัวเองประมาทมาก
และก็ดันเหิมเกริมใส่ Lot แบบจัดหนักและวัดดวงชี้ชะตาซะเลย สุดท้ายก็เลยหมู่ และหมู...เม่า...

ดีที่เป็นบัญชี DEMO ที่ทำให้ได้ทบทวนวิธีเทรดและภาวะอารมณ์ตลาดค่าเงินได้อีกบทเรียน
ราคาที่คนกลัวกันที่สุดอาจคือจุดที่ปลอดภัยที่สุดในการเทรดก็ได้ ทว่าก็คงไม่แน่นอนเสมอไป
เราจะรู้ก็ต่อเมื่อราคามันผ่านไปแล้ว เห็นแล้ว ด้วยไม่มีใครล่วงรู้ราคาแท้จริงล่วงหน้าในอนาคตได้

ที่แน่ๆ ขืนยังเทรดแบบเดิมๆ คิดเองเออเอง และใจร้อนวู่วาม
ที่สุดทั้งกำไรและทุนอาจเรียบราพณาสูร ดังนี้แล...

เรียบร้อยโรงเรียน "ฟอเร็กซ์" อีกแล้ว
สุดท้ายก็อีหรอบเดิม...เม่ายังไงก็ยังคงเป็นยังงั้น...
ต่อให้ทุนมากหรือน้อยก็มีโอกาสเจ็บเจ๊งได้พอๆ กัน ถ้าไม่รู้จักควบคุมและบริหารมาร์จิน
นี่ถ้าเป็นเงินจริง เห็นทีคงจุกจี๊ด เหงื่อตก ใจเต้นตูม และร้องอุทานว่า "ล้างพอร์ตอีกแล้วหรือวะนี่"

ผมก็แชร์ความคิดเห็นตามที่ตัวเองประสบมานะ พอเป็น case เล็กๆ กรณีหนึ่ง

ลองใหม่ๆ ขอทดสอบเงินปลอมอีกสักรอบ (และอาจจะมีรอบต่อไป ^^)
อยาก Sell EJ กับ UJ ดูสิว่ามันจะขึ้นไปได้ถึงไหน...แล้วสกุลเงินเยนพี่ยุ่นจะออกฤทธิ์เมื่อไหร่...
พยายามท่องไว้ๆ...ใจเย็นๆ โยม...

19 พฤศจิกายน 2555

ผมไม่ใช่ผู้หยั่งรู้ฟอเร็กซ์

ถือเป็นคำแก้ตัวสามัญประจำบล็อกที่ข้าน้อยไม่ได้เข้ามาอัพเดทใดๆ
ไม่ว่าจะพูดคุยเรื่องฟอเร็กซ์ หรือลงข่าวฟอเร็กซ์เหมือนแต่ก่อน
ด้วยช่วงนี้ชีวิตวุ่นวาย (แอบฝันว่าวันหนึ่งคงได้วุ่นไวน์บ้าง) และเจองานเร่งด่วนตลอด
กอปรกับเรื่องการเทรด Forex นั้น แต่ละท่านต้องค้นหาแนวทางของตัวเอง


ผมไม่มีซิกแนล ตีกราฟวิเคราะห์ ตรัสรู้ล่วงหน้า
หรือทำนายได้หรอกว่าค่าเงินไหนจะขึ้นหรือลง...
แหมๆ อยากจินตนาการให้นอสตราดามุส (ผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน)
มาเทรดฟอเร็กซ์เหมือนกันว่าจะเป็นเช่นไร
ว่านอสตราดามุสจะบอกแนวโน้มสกุลค่าเงินต่างๆ ได้หรือไม่
ประมาณว่า...วันนี้ EU จะไปทางไหน GU จะขึ้นต่อหรือไม่
หรือ EJ กับ UJ หมดรอบขาขึ้นหรือยัง...
ก็นะ...ใครๆ ก็ต่างวาดฝันถึงกำไรในฟอเร็กซ์กันทั้งนั้น
ทั้งๆ ที่บินเข้าไปก็โดนเผา...ไม่ต่างแมงเม่าบินเข้ากองไฟ


ผมว่า...จะเทรดฟอเร็กซ์ หรือแสวงหากำไรจากตลาดค้าเงินนี่
ต้องใจเย็นมากๆ สงบเข้าไว้ ประมาณใจต้องนิ่งเยี่ยงเสือชีตาร์ หรือหมาป่า หรือไฮยีน่า
ต้องไม่วอกแวก ลนลาน แล้วก็โลภมากมายนัก ทว่าความโลภนี่มันก็ยั่วยวนจริงๆ ซะด้วย
ให้มาพูดแบบนี้ก็อาจฟังดูง่าย ชิวๆ กราฟก็มีแต่ขึ้นหรือลงเท่านั้นเอง จะไปครุ่นคิดกระไรให้มากนัก
ทว่าเมื่อทำสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ หัวจิตหัวใจย่อมสะทกสะท้านเป็นธรรมดา
บางทีเหงื่อแตกพลั่กๆ ยิ่งใครที่ชอบเฝ้ามองกราฟบ่อยๆ ชีพจรน่าจะเต้นโครมครามเลยทีเดียว
แล้วยิ่งถ้าพอร์ตเห็น Profit ติดลบ ติดลบ และก็ติดลบมากขึ้นๆ ใจใครมันจะไปทนได้กันเล่า...
ไหนจะอารมณ์และความรู้สึกในขณะนั้นๆ อีก ยิ่งเทรดก็ยิ่งเครียด...ยิ่งตระหนกหวาดหวั่น

แม่ม...ศึกษาทฤษฎีจากเว็บโน้นเว็บนี้มาจนปรุแล้ว ทั้งเข้าบอร์ดนั้นบอร์ดนี้จนเก๋าแล้วอีก
ไหนจะลงทุนเสียเงินเข้าคอร์สอบรม หรือบรรลุตามที่คนสอนประสิทธิ์ประสาทวิชาเทรดให้
ไฉนเทรดไปๆ มาๆ กลับยิ่งเสียวะ อินดี้ก็ดูแล้วนะ ฟิโบก็ตีแล้วด้วย ข่าวก็ตามอ่านเสมอ ฯลฯ บลาๆ...

ในโลกแห่งความเป็นจริงยิ่งกว่าจริง ตลาดฟอเร็กซ์ช่างโหดร้ายนัก 
มันหลอกล่อ เล่นกล หรือซ่อนลวงอะไรไว้หรือเปล่า... หรือเราไม่เหมาะกับตลาดแห่งนี้
เรายึดติดและคร่ำเคร่งกับมันมากไปรึ หรือเราเทรดแหวกแนวกว่าคนอื่นหวา

ลองปิด MT4 แล้วออกไปสังสรรค์ ดูหนัง เดินห้าง กินข้าวนอกบ้าง หรือเลิกสนใจกราฟบ้างสิ
ไม่มั่นใจก็อยู่นอกตลาดไว้ พรวนดินใส่ปุ๋ยในสวนเล็กๆ บ้างก็ได้ ถอยห่างจากตลาดเงินสักชั่วครู่
มีอะไรนอกเหนือกว่าการเก็งกำไรค่าเงินให้ทำมากมาย ให้เวลากับครอบครัวและผองเพื่อนสักนิดใหญ่ๆ
หรือจะไปเล่นน้ำที่ทะเล ไปกางเต็นท์ก่อกองไฟบนภูเขาเพื่อดูดาวระยิบระยับบนฟ้าบ้างก็สุขใจไม่น้อย

ตัวผมนั้นก็หาใช่ผู้หยั่งรู้ฟอเร็กซ์อันใด พยามยามเทรดแบบเรียบราบและง่ายงามที่สุด
ฝึกฝนจิตใจและอารมณ์ตัวเองเข้าไว้...หรือจะมองให้เป็นศิลปะก็ได้

ผลเทรดฟอเร็กซ์แบบเม่าๆ
ทุกคนล้วนมีความโลภติดตัวกันมาทั้งนั้น
ทว่าบางโอกาสก็ปล่อยให้ความโลภได้แสดงบทบาทสักเล็กน้อย
บางจังหวะก็ต้องรีบถอยแล้วกอบเก็บความโลภจ้อยๆ ตุนไว้เป็นกำลังใจ
หรือไม่ก็เปิดออเดอร์แล้ววัดดวงตั้ง TP ไว้ จากนั้นก็ปิดโปรแกรม MT4 และคุยกับสาวๆ ไปพลางๆ
แบบไม่ต้องไปสนใจว่าราคาจะขึ้นหรือลง...เพราะเราต้องมั่นใจในตัวเองเข้าไว้
เพราะยิ่งเฝ้ามองกราฟหรือแท่งเทียน มันเสียวๆ จนอาจทำให้อารมณ์ทางเพศหมดมู้ดได้ง่ายๆ

ที่แน่ๆ ผมเปิด Sell คู่ EJ กับ UJ ไว้...
จะหมู่หรือจ่าอีกสักสองสามวันค่อยมาดูกันนะ...

ขอให้นักเทรดชาวไทยจงโชคดีทุกๆ ท่านครับ


8 พฤศจิกายน 2555

สยามวาระ: วิกฤตเศรษฐกิจโลก-ไทย

ได้ชมรายการ "สยามวาระ"  ซึ่งออกอากาศทางไทยพีบีเอส (Thai PBS) ช่วงหัวค่ำทุกคืนวันพุธ
โดยเฉพาะเรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจโลก-ไทย ตอน ๑ น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง
ซึ่งในตอนที่หนึ่งนี้...จะกล่าวถึงวิกฤตในยุโรปและปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ

ลองชมกันดูครับ เพราะเป็นรายการที่ดีมากๆ
วิกฤตเศรษฐกิจโลก-ไทย ตอน 1 



ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ย่อโลกและหลอมรวมระบบเศรษฐกิจ
ตลอดทั้งระบบการเงินทั้งโลกเป็น­หนึ่งเดียวกัน
โลกกลับต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๘๐ ปี
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาและวิกฤตยูโรโซนกำลังเขย่าให้โลกทั้งใบจนปั่นป่วน

อะไรคือรากเหง้าและต้นตอของวิกฤต วิกฤตครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร?
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและชีวิตคนไทยอย่างไร?
สังคมเศรษฐกิจไทยพร้อมรับมือกับโลกที่ผันผวนแปรนแปรมากแค่ไหน?

***

ชมกันต่อให้เต็มๆ เพื่อเท่าทัน เตรียมความพร้อม และรู้จักที่จะพอเพียง

วิกฤตเศรษฐกิจโลก-ไทย ตอน 2



ในยุคที่เศรษฐกิจโลกผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกัน
เศรษฐกิจไทยคงไม่อาจรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงลุกลามในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
คำถามสำคัญก็คือ เราพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในวันนี้และวันหน้ามากน้อยแค่ไหน
ปกป้อง จันวิทย์ จะพาท่านผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจบทเรียนจากอดีต เพื่อตอบคำถามเรื่องปัจจุบันและอนาคต
15 ปีผ่านไป สังคมเศรษฐกิจไทยเรียนรู้บทเรียนอะไรจาก "วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540"
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
สังคมเศรษฐกิจไทยปรับตัวและเรียนรู้ไปมากเพียงไร
อะไรคือโอกาส และความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยก้าวต่อไป...

สุดท้าย...ขอบคุณรายการดีๆ เปี่ยมสาระอย่าง "สยามวาระ" มา ณ ที่นี้ด้วย

สยามวาระ
รายการสารคดีเชิงวิเคราะห์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทยในบริบทโลก 
ที่จะหยิบยกประเด็นทางสังคมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม 
ที่สังคมให้ความสนใจ หรือเป็นวาระของสังคม มาวิเคราะห์อย่างเจาะลึก
และนำเสนออย่างเป็นระบบ รอบด้าน ลึกซึ้ง และสร้างความรู้ความเข้าใจของสังคมต่อประเด็นต่างๆ
โดยใช้ข้อมูลที่มีฐานงานวิจัยสนับสนุนเป็นเครื่องมือหลัก
โดย 4 พิธีกรที่นำความรู้ ความถนัดของแต่ละคน มาถ่ายทอดในบริบทที่แตกต่างกัน
ทำให้เรื่องราวที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย  

4 พิธีกรรายการ "สยามวาระ"

เวลาออกอากาศ : 
ทุกวันพุธ เวลา 20.25 – 21.15 น.
ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 03.00 - 03.55 น. (Rerun)

6 พฤศจิกายน 2555

สนามค้าเงินของนักเก็งกำไรรายวัน

อูยยยย...ได้เจอบทความดีๆ บล็อกดีๆ เกี่ยวกับ FOREX เข้าแล้ว
จึงใคร่อยากจะบอกกล่าวและแนะนำกัน เหมือนได้ไปกินอาหารร้านอร่อยๆ ต้องรีบมาบอกต่อ
แถมอ่านง่าย ภาษาไทยแทบพิมพ์ไม่ผิด อ่านแล้วได้อารมณ์ มุมมอง และกำลังใจเพิ่มขึ้น
ถอยห่างจาก Signal หลบเรื่องการวิเคราะห์กราฟ การใช้อินดิเคเตอร์ หรือข่าวสารบ้าง
ฉะนั้น...ผมจึงขอก็อปบทความสักบทหนึ่งจากบล็อกที่ว่านี้มาประดับในบล็อกผมด้วยความอิ่มใจ

***
สนามค้าเงินของนักเก็งกำไรรายวัน

สนามค้าเงินของนักเก็งกำไรรายวัน

การเก็งกำไรในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหรือตลาด forex ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
แต่ถ้าตลาดเปลี่ยนเป็นตลาดหมีล่ะ อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เข้ามาดำรงชีพในฐานะเทรดเดอร์ฟูลไทม์?
นั่นเป็นปัญหาของพวกที่คิดว่าตลาดแห่งนี้สามารถทำเงินได้เฉพาะในตลาดกระทิงเท่านั้น
พวกเขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ตราบใดที่ตลาดยังมีแรงขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง
นักเก็งกำไรในตลาดนี้ก็ยังสามารถทำเงินจากมันได้!!!!!


ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ไม่เพียงแต่เฉพาะสถาบันการเงิน หรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถเล่นเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนรายวันได้ แต่เก็งกำไรที่อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงาน
หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ผ่านคอมพิวเตอร์ notebook tablet ไปจนถึง smart phone เพียงแค่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
เปิดโปรแกรมซื้อขาย realtime ก็สามารถเข้าสู่สนามแข่งขันการค้าเงิน
เพื่อต่อสู้แย่งชิงผลกำไรจากกันได้อย่างง่ายดาย

สนามค้าเงินแห่งนี้มันก็เหมือนสนามแข่งขันกีฬาที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเข้ามาประลองความสามารถ 
ชิงไหวชิงพริบเพื่อเป็นผู้ชนะ และแน่นอนรางวัลของผู้ชนะในสนามค้าเงินก็คือผลกำไรก้อนโต 
แต่สนามค้าเงินนั้นมันไม่เหมือนสนามแข่งฟุตบอล หรือสนามแข่งกีฬาประเภททั่วๆ ไป
เพราะสนามค้าเงินไม่มีการแบ่งระดับความสามารถ 

ไม่ต้องจัดมาตรฐานความสามารถของผู้เข้าแข่งขันเป็นระดับชั้น เป็น division
เพราะฉะนั้นในสนามแห่งนี้ คุณไม่สามารถร้องขอความยุติธรรม จำไว้เลยว่า 

ไม่ว่าจะเป็นนักเก็งกำไรชั้นเซียน นักลงทุนชั้นยอด นักลงทุนสถาบันชั้นแนวหน้า 
หรือขาใหญ่ที่ฝึกหัดมาเพื่อฆ่ารายย่อย รวมถึงคุณ และมือสมัครเล่นทั้งหลาย 
ล้วนลงแข่งในสนามเดียวกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สังเกตจากปริมาณซื้อขายและการแกว่งตัวของราคาที่นับวันจะทวีความกว้างขึ้นเรื่อยๆ
สารพัดเล่ห์เหลี่ยมและความสามารถที่ทุกคนต่างงัดออกใช้
เพื่อแย่งชิงผลกำไรซึ่งกันและกันมีให้เห็นทุกนาทีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์

แต่ก็นั่นแหละ.....นักลงทุนรายย่อยที่ส่วนใหญ่จะเป็นมือสมัครเล่น ย่อมหลักหนีความจริงไปไม่พ้น
เมื่อมีการแข่งขันก็ต้องย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ ผู้ที่แข็งแกร่งย่อมชนะผู้ที่อ่อนแอ ผู้ที่ฉลาดย่อมชนะผู้ที่รู้น้อยกว่า
ทำให้การเก็งกำไรในตลาดค่าเงินเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก
สำหรับผู้ที่อ่อนแอทางด้านความรู้ ประสบการณ์ อารมณ์และจิตใจ
ดังนั้น ผู้ที่คิดว่าตนเองยังมีความรู้ทางด้านนี้ไม่มากพอ 
โปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเข้ามาในตลาด forex

และถึงแม้เทคโนโลยี นับวันจะยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักเก็งกำไร
รายย่อยสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารในไวพอกับๆ นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่
พวกเรารู้มากมายเกี่ยวกับตลาด ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย จนบางครั้งอาจพูดได้ว่า
คุณเห็นมากเกินไป บริโภคข้อมูลมากเกินไป การเห็นคำสั่งซื้อขายในจอคอมฯ ทุกคำสั่ง
การเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ นั่นทำให้คุณสูญเสียภาพรวมของตลาดไป
ดังนั้น พัฒนาการของระบบเทคโนโลยีที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้
คุณจึงไม่สามารถรับประกันผลกำไรของคุณได้ มันไม่สามารถเข้ามาทดแทนความรู้
ความชำนาญและประสบการณ์ในการเทรด ซึ่งคุณจะต้องใช้เวลาทุ่มเทในการเรียนรู้มันเองเท่านั้น

ซึ่งแน่นอนว่าจากสถิติที่ผ่านมา พบว่านักเก็งกำไรในตลาดค่าเงินส่วนใหญ่จะขาดทุน
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ ด้วยเหตุนี้ ตลาดค่าเงินจึงถูกมองว่า
เป็นแหล่งการพนันจากคนส่วนใหญ่เพราะนักเก็งกำไรที่ล้มเหลวมักจะกล่าวโทษตลาด
หรือไม่ก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานาประโคมข่าวไปทั่ว เพื่อยืนยันว่าที่ตนขาดทุนนั้นไม่ใช่เพราะตัวของเขาเอง
พวกเขาไม่ยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้ศึกษาให้มากพอ แต่เป็นเพราะโน่น นี่ นั่น......
บางคนถึงขนาดกล่าวหาว่าพวกที่กำไรนั้นโกหก @#%#%$

แต่ยังไงสิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ยังมีนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จอยู่จริง 
ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากนักเก็งกำไรส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว ก็คือ
แม้พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการขาดทุนและล้มเหลวมาไม่ต่างจากนักลงทุนทั่วไป 

แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้ ไม่โทษฟ้าดิน ไม่ยกแม่น้ำทั้ง 5 มาพูดว่าทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของตัวเอง 
พวกเขาจะยอมรับว่าสิ่งที่ผิดพลาดทั้งหมด ล้วนเกิดจากตัวเขาเอง เพราะเขายังอ่อนประสบการณ์ 
เขายังรู้น้อยมากในตลาดที่กว้างใหญ่นี้ พวกเขาจะนำเอาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาศึกษาอย่างจริงจัง
พยายามแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นให้หมดไป พยายามเรียนรู้เทคนิคของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน 

แล้วปรับปรุงให้เหมาะกับตัวเอง และที่สำคัญที่สุด ก็คงไม่ต่างจากนักกีฬามืออาชีพ คือ 
พวกเขาต้อง ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อมเท่านั้น พวกเขาไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้!!!!!

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ไม่ใช่ว่าทุกคนเรียนรู้แล้วจะประสบความสำเร็จ
เปรียบเสมือนการเรียนในห้องเรียนที่นักเรียนทุกคนเรียนจากหนังสือเล่มเดียวกัน
แต่เวลาสอบก็จะต้องมีนักเรียนสอบได้ที่หนึ่งและอีกคนได้ที่โหล่ของชั้น
แต่อย่างน้อย การได้เรียนรู้มันก็คงยังดีกว่าการยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มเรียน จริงไหม!!!!

และสุดท้าย มันก็คงขึ้นอยู่กับความพยายาม ความอดทน และจิตใจที่แข็งแกร่งของคุณเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า
คุณจะเป็นได้แค่นักเก็งกำไรมือสมัครเล่น หรือนักเก็งกำไรอาชีพที่ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกับนักกีฬาอาชีพ
อย่างไทเกอร์ วู้ด หรือ เดวิด เบ็คแฮม ทั้งหมด มันก็อยู่ที่ตัวคุณ!!!

ขอให้ทุกคนโชคดี
2Btrader

***

เป็นเช่นไรบ้าง...บทความนี้คงพอจุดประกายอะไรในตัวนักเทรดชาวไทยกันได้ไม่มากก็น้อย
ผมชื่นชมผู้เขียนบล็อกนี้จากใจจริง เป็นการนำเสนอเรื่องฟอเร็กซ์อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง
ฉะนั้น เหล่านักเทรดชาวไทยไม่ควรพลาดที่แวะไปอ่านบล็อกนี้ คือ
http://2btrader.blogspot.com

⊙▂⊙

2 พฤศจิกายน 2555

3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์ (ต่อ)

กลับมาเพื่อเขียนต่อบทความเม่านี้ให้จบตามที่บอกกล่าวไว้...
ถือเป็นการพูดคุยเรื่องฟอเร็กซ์แบบกันเอง ตามประสาคนไทยด้วยกัน
จากบทความก่อนหน้า 3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์ ที่ค้างคาไว้--

ผมจึงโละและละบางทฤษฎีทิ้งบ้าง ลืม Indicato บางตัวบ้าง เลิกอ่านความคิดเห็นในเว็บบอร์ด
จากนั้นผมก็...ยังเทรดต่อไป แต่เป็นมาเล่นบัญชีเดโมแทน เพื่อลองผิดลองถูกจิปาถะ
เผื่อจะเข้าถึงวิถีการเทรดขั้นเทพบ้าง (อิๆ) จริงๆ คือผมอยากลองทฤษฎีไรบางอย่างนะ
จะว่าเป็นทฤษฎีทีเดียวก็ไม่ใช่...เอาเป็นว่าผมอยากหาคำตอบจากข้อสงสัยในตลาดฟอเร็กซ์มากกว่า


ขอย้อนมาเรื่องการ "ล้างพอร์ต" ของผม 3 รอบก่อนว่า
จริงๆ แล้วมันเสียเงินมากกว่านั้น เพราะแต่ละรอบนั้น
ผมมีการเติมเงินเข้าไปในโบรกเกอร์เพื่อรักษาพอร์ต เยียวยามาร์จิ้นไว้
เติมไปหลายครั้งพอควร ตั้งแต่ 30-60$ ทว่าก็ไม่รอด
โดนเชือดเดี้ยงก่อนที่ราคาจะกลับมา...
กล่าวง่ายๆ ว่าถ้าไม่โลภ ตั้ง SL บ้าง ตั้ง trailing stop บ้าง
ยอมตัดขาดทุนเองบ้าง หรือรู้จักแก้ไขสถานการณ์ ใจเย็น
เล่นรอจังหวะ พอร์ตก็คงยังอยู่และอาจโต...

ผมเชื่อว่า...การเทรดฟอเร็กซ์ (Forex) ต้องทุ่มเทเวลาอย่างมหาศาล มีความตั้งใจจริง
ต้องอ่าน คิด หาจุดบกพร่อง และสร้างกลยุทธ์หรือเทคนิคการเทรดเป็นของตัวเอง
มีการวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคเพื่อนำมาใช้ด้วยกัน
การเทรดฟอร์เร็กซ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่งั้นคงมีคนรวยกันอื้อ แล้วใครจะเป็นฝ่ายเสียกันล่ะ?
แม้นการที่เราเทรดเสีย พอร์ตหาย นั่นไม่ใช่ว่ามีคนโกงเรา หรือมีใครบางคนหลอกลวงเงินจากเรา
แต่ความจริงแล้วที่เราเสียเงินนั้นมันเป็นเพราะตัวเราเอง เราล้มเหลวในการเทรดเอง

แล้วใน วันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ผมก็ตัดสินใจสู้กับตลาดค้าเงินต่อด้วยบัญชีเดโม
โดยขอจำนวนเงินเริ่มต้น 10,000$ ซะเลย ทำนองขอสวมมาดนักเทรดระดับกลางๆ ดูสักนิด
ครั้นจะเรียกมาลองแค่ 100$ หรือ 1,000$ แบบนั้นก็ยังเป็นแค่รายเล็ก รายย่อย หรือเม่านะสิ
ผมอยากรู้ว่ารายใหญ่ ขาใหญ่ พวกมีเงินเยอะๆ หนาๆ นั้น เวลาเทรดจะเป็นเช่นไร
แน่นอนว่ามีเงินเยอะย่อมล้างพอร์ตยาก ติดลบก็สามารถถือสู้ได้แบบหายใจสะดวก
ไหนๆ แล้วก็ขอวางมาดมีฟอร์มเสี่ยในบัญชีเงินปลอมบ้าง
เงิน 10,000$ คิดเป็นเงินไทยตัวเลขกลมๆ ก็ตีว่าประมาณ 300,000 บาท ละกัน

บัญชี Demo
เมื่อเปิดปุ๊บ โดยมิรอช้าให้ยืดยาด ผมก็เปิดออเดอร์เทรดปั๊บเลยในวันนั้น...
ก็เล่นมาเรื่อยๆ พร้อมกับอัพเดทบล็อกนี้ไปด้วย พยายามตามอ่านข่าวสารทางเศรษฐกิจทั่วโลก
โดยเฉพาะคู่เงินที่เทรด แต่ก็ไม่ลืมส่องๆ มองๆ อินดิเคเตอร์ที่เลือกใช้

ผมบอกตรงๆ เลยว่า ไทม์เฟรม M5 M15 หรือ M30 เหล่านี้ ผมไม่มองเลย
ไม่เอามาดูวิเคราะห์ในการเปิดออเดอร์ จะพินิจก็แค่โฟกัสเพื่อหาราคาเปิดหรือปิดเท่านั้น
แบบสัญญาณหลอกมันนัว โอกาสพลาดมีสูง ทั้ง TF เล็กๆ ผมไม่แม่นซะด้วย (ปกติก็ไม่แม่นสัก TF)

จากกรกฎาคมจนมาถึงตุลาคม...
ผมก็เทรดมาเรื่อย เทรดฟอเร็กซ์แบบไม่ค่อยคิดมากเหมือนเงินจริง
แรกๆ ค่อนไปทางขี้เกียจด้วยซ้ำ ดูอินดี้ผ่านๆ พยายามฝึกมองกราฟเปล่า
ชอบมอง Profit มากกว่า ชอบเบิลล็อต และก็ยังนิสัยเดิมๆ ไม่ชอบตั้ง SL

วันนี้ 2 พฤศจิกายน 2555 ผมก็ตัดสินใจปิดทุกออเดอร์
อยากปล่อยวาง เคลียร์กราฟ และหลบ ข่าวนอน-ฟาร์ม ของสหรัฐฯ ในคืนนี้...
เพื่อไปเริ่มต้นใหม่ในวันจันทร์ หรือรอข่าวผ่านไปก่อน ค่อยวิเคราะห์อีกที

เทรดเงินจริงได้แบบนี้ก็แฮปปี้สิ
สรุป 3 เดือน เทรดเงินปลอมได้มา 3,915$ แต่เบิกเป็นเงินจริงไม่ได้ (555)
ทว่าเวลาที่ผ่านมาสามเดือนนั้น ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย ได้ฝึกจิตใจ รู้จักปล่อยวาง
เห็นโอกาสก็รีบฉวย ใส่ lot ให้หนัก รู้การรอ กำไรแล้วก็เผ่นบ้าง หรือตัดออเดอร์ติดลบทิ้งบ้าง

ขอให้นักเทรดชาวไทยสู้ๆ หาแนวทางการเทรดของตัวเองให้เจอ...

สามารถชมดูบัญชี Demo นี้ที่ Myfxbook/dream-fx 


27 ตุลาคม 2555

3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์

น้อมขออภัยที่ห่างหายและหลบลี้ไม่มาอัพข่าวสารฟอเร็กซ์เสียสองวัน
ด้วยมีงาน "ฟรีแลนซ์" จากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ติดต่อมา ทั้งเป็นงานเร่งด่วน
จึงต้องปลีกวิเวกทำงานที่ถนัดและได้เงินแน่ๆ ภายในเวลาอันจำกัด

***

ทั้งบล็อก Dream to Forex นี้...
ผมก็ทำคนเดียว แถมยังมีอีก 3 Blog กับ 1 เว็บร้าน
บางบล็อก...นานๆ ผมก็อัพเนื้อหาที บางบล็อก...ก็อาจวันเว้นวัน หรือเว้นสองวัน
ขณะที่บล็อก ดรีม ทู ฟอเร็กซ์ อาจได้ผ่อนลมหายใจลั้นลาช่วงวันเสาร์กับอาทิตย์
ฉะนั้น หากวันใดที่ผมไม่ได้มาแปะข้อมูลข่าวสารเรื่องฟอเร็กซ์บ้าง ก็ขออภัยล่วงหน้าด้วย
หรือไม่แน่ว่า...วันหนึ่งวันใด บล็อกนี้อาจนิ่งสนิท เงียบฉี่ และจบสิ้นลงก็ได้

"เม่าเงินจริง สิงห์เงินปลอม"
มีใครเป็นแบบนี้กันบ้าง?!?
แบบเล่นเงินจริงยังไงๆ ก็โดนล้างพอร์ตทุกที
เปิด BUY ราคาร่วง งั้น SELL อ้าว...กราฟขึ้นอย่างพลุ ชิบหา...
แต่พอลองเทรดเงินปลอม ไฉนกำไรได้กำไรดี พอร์ตโตวันโตคืน
แถมเล่นแล้วมันง่ายๆ สบายๆ ไม่เคร่งเครียดเท่าเงินจริง
บางทีไม่ต้องวิเคราะห์ไรมาก อินดี้ดูแวบๆ แล้วเปิดออเดอร์เลย


ใครไม่เป็นแบบนี้ยกมือขึ้น?
แต่ผมเป็นและประสบกับตัวเอง มันเป็นเพราะอะไรกันนี่?
เอางี้-- ขอให้ย้อนกลับไปอ่านโพสต์ชื่อ Buyer/Seller อีกฝั่งหนึ่งที่คุณลืมนึกถึง กันพลางๆ ก่อน

หลังจากที่เทรดเงินจริงแล้วโดนล้างพอร์ตไป 3 รอบ
ซึ่งล้างพอร์ตรอบแรกไม่ได้แปลกใจอันใด ด้วยหลายๆ คนบอกว่าทุกคนต้องผ่านประสบการณ์ตรงนี้ก่อน
ทั้งรอบแรกลงทุนในโบรกเกอร์ไปแค่ 100$ ส่วนล้างรอบสองก็มาอีหรอบเดิม
แต่ก็ยังคิดว่า เอาน่า มือใหม่ ประสบการณ์ยังน้อย ปุบปับจะเทรดพลันโชคดีได้เงินเลยรึ
พอมารอบที่ 3 รอบนี้เทรดทำกำไรได้แฮะ นั่นแหละ...ความฮึกเหิมและมั่นใจก็เกิดขึ้น
เริ่มคิดว่าตัวเองใช้ได้ ดูอินดิเคเตอร์ออก อ่านมาก แบบเริ่มเชื่อมั่นตัวเองล้นพ้น
แถมเวลาเทรด ผมไม่ชอบตั้ง SL รักจะถือติดลบ ด้วยหวังว่ายังไงๆ เดี๋ยวราคาก็กลับมาเอง
ทั้งชอบเปิดออเดอร์เพิ่มเป็นขั้นๆ และใส่ล็อตหนักขึ้นๆ...

เทรดเงินจริงรอบ 3 นี้ เริ่มแรกทำไรได้มาราว 200$ พอร์ตเริ่มโตพอง พร้อมกับความผยองในใจ
เทรดวันแล้ววันเล่าแบบเปิดล็อตน้อยๆ ตัวเลขใน Balance ค่อยๆ เพิ่มขึ้น กระทั่งเป็น 600$
(ทำไมๆ ผมไม่กดถอนออกมาบ้างนะ ทว่าตอนนั้นคิดแค่จะทำให้มีเงินในพอร์ต 1,000$ ให้ได้)
ในที่สุด...วันหนึ่งก็พลาดจนได้ ด้วยความที่ไม่ชอบตัดขาดทุน และตั้ง SL
เมื่อเปิดออเดอร์แรกโดยการ SELL พลาดแล้วราคาก็ขยับขึ้น ก็เลยมิรอช้าเบิลล็อตใส่เข้าไปอีก
อุเหม่...กราฟยังคงทะลึ่งพุ่งอย่างไม่ไว้หน้าขาเซลล์เอาซะเลย เอาวะ...เปิด SELL ต่ออีก...
สุดท้าย แบกติดลบไปสิบสองออเดอร์ ขณะ Equity ลดลงเรื่อยๆ และ Free Margin ติดลบหน้ามืด
หลังจากนั้นก็คงเดากันออก ราคายังขึ้นไม่หยุดฉุดไม่อยู่ และแล้วก็ล้างพอร์ตเป็นรอบสาม...

รอบแรกโดนไป 100$
รอบสองโดนไป 150$
รอบสามโดนไป 250$

เม่าจริงๆ ตรูนี่...Forex พอๆ ไม่ไหวๆ จะหวังเอาเงินร้อยทำกำไรให้ได้สองร้อย สามร้อย หรือห้าร้อยนี่
คิดในทางทฤษฎีเหมือนง่าย แต่เมื่อลงปฏิบัติจริง เทรดจริง เงินจริง ไปไม่รอด
ต้านทานและสู้พวกขาใหญ่ รายใหญ่ หรือพวกกองทุนสถาบันต่างๆ ที่เข้ามาเก็งกำไรไม่ไหว
วันนี้เทรดได้ พรุ่งนี้โชคดีได้อีก แต่วันต่อไป หรือวันอื่นๆ จะเป็นยังไง จะเทรดกำไรได้สม่ำเสมอไหม
เบี้ยน้อยหอยน้อยจะไปต่อกรหรือฟัดเหวี่ยงกับเหล่าทุนหนาๆ อีท่าไหนดีถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อ
ครั้นจะหันหลังแล้วเลิกเล่นฟอเร็กซ์ซะเฉยๆ ก็ให้เสียดายที่อ่าน ศึกษา และลงทุนเทรดเงินจริงมา
แถมบางทฤษฎีก็บอกว่า...การจะเป็น "เทรดเดอร์อิสระ" นั้น ต้องใช้เวลา 3 ปีอัพ หรือมากกว่านั้น

ผมก็มานั่งคิด นอนทบทวน และยืนไตร่ตรองดู...
ขืนเอาเงินใส่โบรกเกอร์ 100$ หรือ 200$ แล้วยังเทรดแบบเดิมๆ จ้องกราฟคร่ำเคร่ง
ใจร้อน มือซน แม้นพยายามบริหาร Money Management (MM) แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า
ไฉนเลยจะเทียบรัศมีกับ Market Maker (MM) หรือพวก Smart Money (SM) ได้ ด้วยต้นทุนที่ต่างกัน
พวกนี้ควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินสกุลต่างๆ และยังเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนว่าควรอยู่ที่เท่าใด
ทั้งมีเงินทุนจำนวนมากจึงต้องการเข้ามาแสวงหากำไรที่มั่นคง จะปั่นจะทุบราคาเพื่อกินรายย่อยสบาย
พวกนี้สามารถควบคุมทิศทางการตลาดได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีเงินมากก็ทำให้ตลาดผันผวนได้
เป็นเหตุให้รายย่อย (เม่า) มิอาจรักษามาร์จินที่มีอยู่ (หากไม่เติมเงินเข้าไป ก็ต้องจำใจตัดทิ้งเอง)
แล้วที่สุดออเดอร์เม่าที่ติดลบก็ถูกโบรกเกอร์ Cut Lot ทิ้งให้โดยปริยาย...กระทั่งล้างพอร์ต

แต่ครั้นจะเอาเงิน 100$ หรือ 200$ ไปแสวงหากำไรในตลาดฟอเร็กซ์รอบที่ 4 นั้น...
ผมขอสละสิทธิ์ เทรดเงินจริงแค่นี้จะอยู่ได้กี่วัน แม้นจะสะสมกำไรได้วันละเล็กละน้อยก็เถอะ
แล้วเกิดวันหนึ่งพลาดขึ้นมา ซึ่งโอกาสพลาดมีแน่ๆ ทั้งทุนและกำไรอาจหายภายในพริบตา

ผมจึงโละและละบางทฤษฎีทิ้งบ้าง ลืม Indicato บางตัวบ้าง เลิกอ่านความคิดเห็นในเว็บบอร์ด

จากนั้นผมก็....

***

อ่านต่อที่ CLICK >>> 3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์ (ต่อ)








24 ตุลาคม 2555

วันนี้ สุนทรพจน์ประธานอีซีบี

ผลกระทบจากความกังวลทางเศรษฐกิจและผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในสหรัฐฯ
ได้สร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ขณะที่เงินยูโรก็ได้รับแรงกดดันจากการที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส
ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในสเปน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของสเปนพุ่งขึ้น
โดยฝั่งยุโรปมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในสเปนหลังจากมูดี้ส์ฯ ลดเครดิตของ 5 แคว้นในสเปน
เพิ่มความเสี่ยงว่าสเปนจะถูกลดเครดิตเป็นขยะในเร็วๆ นี้
พร้อมกับดันดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี สู่ 5.62% เทียบกับ 5.37% ณ สิ้นสัปดาห์ที่แล้ว

นายแอนโทนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีของกรีซ กล่าวว่า
กรีซคาดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือที่จำเป็นก่อนทุนสำรองเงินสดสกุลยูโรจะหมดลงในกลางเดือนหน้า
ซึ่งหากกรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ก็จะไม่มีเงินบริหารประเทศ

นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี

วันนี้ เวลาประมาณ 18.45 น.
จับตาดูการแถลงการณ์ของประธานธนาคารยุโรป (ECB)
โดยที่เนื้อหาจะเกี่ยวกับตัวเลขงบประมาณ
และแนวโน้มของดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งยุโรป
ที่จะมีการประชุมในเร็ววันนี้ โดยอาจสร้างความผันผวน
เชิงบวกต่อบรรยากาศค่าเงินโดยรวมได้บ้าง

 

 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 14.00 น. ดัชนี​ชี้วัดภาคการผลิตและบริการในฝรั่ง​เศส (French Flash Manufacturing & Services PMI)
• เวลา 14.30 น. ดัชนี​ชี้วัดภาคการผลิตและบริการใน​เยอรมนี (German Flash Manufacturing & Services PMI)
• เวลา 15.00 น. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (German Ifo Business Climate)
• เวลา 15.00 น. ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตและบริการในยู​โร​โซน​ (Flash Manufacturing & Services PMI)
• เวลา 17.00 น. ตัวเลขการคาดการณ์ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในอังกฤษ (CBI Industrial Order Expectations)
• เวลา 18.45 น. สุนทรพจน์ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB President Draghi Speaks)
• เวลา 21.00 น. ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ (New Home Sales)

23 ตุลาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 23 ต.ค.

ช่วงนี้...อาจเข้ามาอัพบล็อกน้อยลงบ้าง หายไปบ้าง ด้วยบางทีมีเหตุให้วุ่นๆ
หรือบางคราก็อยากปล่อยวางเรื่องฟอเร็กซ์บ้าง เพลาๆ การตามเสพข่าวลงสักเล็กน้อย
แล้วหาอะไรอย่างอื่นทำ ปลีกตัวห่างจากกราฟ แท่งเทียน ตัวเลข หรืออินดิเคเตอร์สารพัด

วันนี้ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราช...
หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

***

กลับมาที่เรื่อง Forex และข่าวเศรษฐกิจทั่วไปแบบเม่าๆ กัน



Bloomberg รายงานว่า 69% ของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ
ที่แจ้งงบแล้วนั้น มีกำไรสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ส่วนในวันอังคารและพุธนี้ จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
แต่คาดว่าอยู่ในความสนใจของตลาดน้อยลง c]tผล​การประชุมน​โยบาย​การ​เงินของ​เฟด
ก็คงยังยืนยันที่จะดำเนินการนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเหมือนเดิม

ส่วนปัจจัยในยุโรปนั้น การประชุมผู้นำยุโรป (EU Summit) สิ้นสุดลงโดยไม่มีพัฒนาการเกี่ยวกับสเปน
และการจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารจัดการธนาคาร (Banking Union) ก็ต้องรอไปถึงปี 2557 โน่น
ดังนั้น ภาพรวมของยุโรปจึงกลับไปมองที่กรีซอีกครั้ง
ซึ่งน่าจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนถัดไป 3.15 หมื่นล้านยูโรในต้นเดือน พ.ย.นี้
หลังจากที่กรีซสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงเกือบทั้งหมดกับเจ้าหนี้ได้แล้ว
ขณะที่ความไม่แน่นอนในการให้ความช่วยเหลือสเปน
หลังจากเยอรมนีมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอียู
ในเรื่องการใช้กองทุนช่วยเหลือของยูโรโซน (ESM) เพื่อเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารโดยตรงนั้น
ทำให้ตลาดยังวิตกกังวลปัญหาหนี้ของสเปนอยู่

กระทรวง​การคลัง​เยอรมนีคาดว่า
​เศรษฐกิจของประ​เทศมี​แนว​โน้มจะ​เผชิญกับภาวะชะลอตัวรุน​แรง​ใน​ไตรมาสสุดท้ายของปี 2555
อัน​เนื่องมาจากสถาน​การณ์ทาง​เศรษฐกิจของประ​เทศสมาชิกอื่นๆ ​ในยู​โร​โซนที่อ่อนแอ
โดยระบุ​ในรายงานราย​เดือนว่า​ การส่งออก​และ​การผลิตภาคอุตสาหกรรมมี​แนว​โน้มย่ำ​แย่ลง ​
ขณะที่ภาค​เอกชนลัง​เลที่จะลงทุนท่ามกลาง​ความ​ไม่​แน่นอน ​
โดยคาดว่ากิจกรรมทาง​เศรษฐกิจในเยอรมันจะชะลอลง​ในช่วงหลาย​เดือนข้างหน้า

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยว่า ยอดการส่งออกในเดือน ก.ย. ของญี่ปุ่นทรุดตัวลง 10.3%
เป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตญี่ปุ่นแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่าสองปี
ซึ่งข้อมูลตัวเลขดังกล่าวได้ตอกย้ำความวิตกที่ว่า
ญี่ปุ่นซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกอาจทรุดตัวลงสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่ยอดส่งออกไปยังจีนและยุโรปร่วงลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยเมื่อคืนนี้ สกุล​เงิน​เยนร่วงลง​แตะระดับต่ำสุด​ในรอบหลาย​เดือน​เมื่อ​เทียบกับสกุล​เงินดอลลาร์สหรัฐ ​
หลังจากมี​การคาด​การณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
และประกาศ​ใช้น​โยบายผ่อนคลายทาง​การ​เงิน​เพิ่ม​เติม​ใน​การประชุมสัปดาห์หน้า

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 15.30 น. ยอดจดจำนองในอังกฤษ (BBA Mortgage Approvals)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ( Consumer Confidence)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีภาคการผลิตสาขาริชมอนด์ในสหรัฐฯ (Richmond Manufacturing Index)

เห็นข่าวฟอเร็กซ์จาก Forexfactory ในวันพรุ่งนี้ของยุโรปแล้ว...เหนื่อย...เมื่อย...

19 ตุลาคม 2555

EU Summit วันที่สอง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบเล็กน้อยหลังจาก Google เปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอเกินคาด 
เป็นที่น่าสังเกตว่าผลประกอบการในสหรัฐฯ นั้นดีเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน
แต่กับกลุ่มภาคเศรษฐกิจจริงกลับยังไม่ค่อยดีนัก
เมื่อคืน ตัวเลขยอดขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสู่ 3.88 แสนตำแหน่ง
ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทางสถิติจากสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน
ด้วยตัวเลขดังกล่าวลดลงมากเกินจริงเพราะมี 1 รัฐยังไม่ได้รายงานตัวเลข
ส่วนดัชนีแนวโน้มธุรกิจปรับดีขึ้น และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ปรับขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ด้านข่าวคราวทางฝั่งยุโรปนั้น
สเปนประมูลพันธบัตรมูลค่า 4.6 พันล้านยูโรด้วยความต้องการที่แข็งแกร่งและดอกเบี้ยที่ลดลงต่อ
น่าจะเป็นสัญญาณชี้ว่าสเปนยังไม่มีความจำเป็นที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินในระยะสั้น
ส่วนกรีซก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากมีรายงานข่าวว่ากรีซสามารถสรุปเงื่อนไขกับเจ้าหนี้ได้แล้ว
ทั้งนี้กลุ่มผู้นำยุโรปได้เสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดในวันแรกแล้ว โดยในวันนี้จะประชุม EU Summit ต่อ
ซึ่งนักลงทุนเริ่มไม่คาดหวังว่าจะมีการประกาศอะไรออกมาเซอร์ไพรส์ตลาด
และมีข่าวว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ว่า
ไม่ได้มีการคุยกันเกี่ยวกับเรื่องสเปนในการประชุมวันแรกแต่อย่างใด

เมื่อวาน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น
ปัจจัยหนึ่งเพราะความไม่มั่นใจว่าสเปนจะขอความช่วยเหลือหรือไม่ ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลง
แม้ว่าการประมูลขายพันธบัตรของสเปนจะได้รับการตอบรับที่น่าพอใจก็ตาม
อีกทั้งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้มีการหารือกัน
ทว่าก็มีบางประเด็นที่เกิดความขัดแย้งเรื่องที่สหภาพยุโรปสามารถควบคุมในเรื่องงบประมาณของชาติ
และก่อตั้งระบบควบคุมดูแลภาคธนาคารได้มากน้อยเพียงใด
ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสต้องการมุ่งความสำคัญไปที่การดูแลระบบธนาคารให้มีการดำเนินการเร็วที่สุด
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเห็นว่าควรมุ่งความสนใจไปที่บทบัญญัติทางการคลังเพิ่มขึ้น
และเพิ่มอำนาจคณะกรรมาธิการยุโรปให้ใช้สิทธิ์ยับยั้งงบประมาณรายจ่ายของประเทศสมาชิกอียู 

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ประกาศคงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของระบบธนาคาร
ของเยอรมนีเอาไว้ที่ 'เชิงลบ'
โดยพิจารณาถึงความอ่อนแอในด้านการดำเนินงาน
อันเนื่องมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วยุโรป
คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอย
และศักยภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดในการรับมือกับภาวะขาดทุนของธนาคาร

นายริชาร์ด ซี คู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ
เจ้าของแนวคิด “balance sheet recession” หรือการชะลอตัวเนื่องจากการหดตัวของงบดุล
กล่าวว่า ตอนนี้แนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับเศรษฐกิจประเทศตะวันตกเกือบทุกแห่ง
โดยเขาก็เกรงว่าสถานการณ์ในยุโรปจะแย่ลงเรื่อยๆ ด้วย

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้

• เวลา 13.00 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตรายเดือนในเยอรมันรายเดือน (German PP)
• เวลา 15.00 น. ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในยุโรป (Current Account)
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขการปล่อยกู้ภาครัฐของอังกฤษ (Public Sector Net Borrowing)
• เวลา 21.00 น. ยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐ​ฯ (Existing Home Sales)


18 ตุลาคม 2555

EU Economic Summit วันแรก

บางเวลาชีวิตก็อยากเกียจคร้านบ้าง เหลวไหลบ้าง อืดอาดบ้าง
เพราะผมทำบล็อก Forex นี้ขึ้นมาก็ไม่ได้เงินได้ทองอันใด ไม่มีลิงก์เชิญชวนให้สมัครต่อ
ส่วนข้อมูลที่นำมาลงนั้นก็ตระเวนหาตามเว็บต่างๆ แล้วนำมาขยำรวมบ้าง ลอกมาแล้วย่อบ้าง
จึงไม่รู้ว่าจะลงเครดิตหรือแหล่งที่มาอย่างไร ซึ่งก็ต้องขอบคุณข่าวสารจากเว็บต่างๆ ด้วย

เมื่อคืนนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเริ่มสร้างบ้านใหม่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี
ส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ที่ออกมาเป็นบวกในระยะหลังส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า มาตรการ QE3 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ส่วนด้านยุโรปก็มีแนวโน้มเชิงบวกเช่นเดียวกัน
หลังจาก มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ฯ ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนไว้ที่ Baa3
บนสมมติฐานว่าสเปนจะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศในเร็วๆ นี้
จึงทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากความคิดในเชิงบวกดังกล่าว
โดยในช่วงสองวันนี้ค่าเงินยูโรดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ก็จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนอยู่ที่ BBB- 
ส่วน ฟิทช์ เรทติ้งส์  จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนสูงกว่าเอสแอนด์พี 1 ขั้น
โดยอยู่ที่ BBB แต่ให้แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบ

โฟกัสตลาดตอนนี้อยู่ที่การประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป EU Economic Summit 
หรืออียูซัมมิท วันที่ 18-19 ต.ค. (วันนี้และพรุ่งนี้)
โดยเหล่าผู้นำยุโรปจะมารวมตัวที่กรุงบรัสเซลส์
เพื่อหารือถึงวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่กำลังเป็นไปอยู่ในขณะนี้
วันนี้ จึงควรจับตาดูการประชุมอียูซัมมิทเป็นวันแรก
โดยเนื้อหาในการประชุมจะเน้นไปที่
แผนงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือสเปนและกรีซ
ซึ่งน่าจะสร้างความผันผวนต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม




สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P)
ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของไซปรัส
ลงสู่ระดับ B จากเดิมที่ BB โดยมีแนวโน้มเชิงลบ
ขณะที่รัฐบาลไซปรัสเตรียมการหารือรอบสุดท้ายว่าด้วยข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มทรอยก้า

จอร์จ โซรอส  มหาเศรษฐีนักลงทุน
กล่าวในที่ประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ ณ มหานครนิวยอร์ก ว่า
เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงเนื่องจากภาคครัวเรือนลดการใช้จ่าย
โดยรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เคยใช้ได้ผลในอดีตนั้นกำลังอ่อนแรงลง
เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่เพิ่มขึ้นช้าลง
ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซา
พร้อมกับลางร้ายที่เสริมเข้ามาก็คือกระแสเงินหยวนไหลออกนอกประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
เชิญอ่านบทความ >>> เงินหยวนแห่ไหลออก ลางร้ายจีนซบยาว

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขยอดค้าปลีกในอังกฤษ (Retail Sales)
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 21.00 น. ผลสำรวจ​แนว​โน้มธุรกิจสหรัฐ​ฯ เดือนต.ค.จาก​เฟดฟิลา​เดล​เฟีย (Philly Fed Manufacturing Index)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือนก.ย. จาก Conference Board (CB Leading Index)

16 ตุลาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 16 ต.ค.

เมื่อคืนนี้ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาสูงขึ้นเกินคาด
ซึ่งปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
โดยตัวเลขทางสหรัฐฯ ที่ออกมาดีถือป็นปัจจัยชี้ให้เห็นว่า
การแทรกแซงตลาดของเฟดผ่านมาตรการ QE3 อาจมีระยะเวลาที่สั้นลง

ส่วนวิกฤติหนี้ในยูโรโซนเริ่มมีสัญญาณบวกหลังนายกรัฐมนตรีกรีซระบุว่า
มีโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้เกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหม่ได้
ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป หรือ EU Summit ในวันที่ 18-19 ต.ค.นี้
รวมทั้งยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลสเปนใกล้ที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินในเดือน พ.ย.
ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้อีซีบีสามารถเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนได้ และช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของสเปน
นักลงทุนยังรอดูว่าการประชุมสุดยอดผู้นำเป็นเวลาสองวันของสหภาพยุโรป (อียู)
ซึ่งจะเปิดฉากในวันพฤหัสบดีนี้ จะนำไปสู่ความคืบหน้าการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ของยูโรโซนได้หรือไม่

นายอังเคิล กูร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้แถลง
นอกรอบการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเวิลด์แบงก์ในกรุงโตเกียว
แนะนำให้สเปนขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป โดยให้เริ่มดำเนินการเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล 
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อสเปนในการขอความช่วยเหลือจากกลไกเสถียรภาพยุโรป
ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือทางการเงินของยูโรโซน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 15.00 น. ตัวเลขดุลการค้าในอิตาลี (Italian Trade Balance)
• เวลา 15.30 น. ดัชนีราคาผู้บริโภคอังกฤษ (CPI)
• เวลา 15.30 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตรายเดือนในอังกฤษ (PPI Input)
• เวลา 15.30 น. ดัชนีราคาสินค้าขายปลีกในอังกฤษ (RPI)
• เวลา 16.00 น. ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของยุโรป (German ZEW Economic Sentiment)
• เวลา 16.00 น. ดัชนีราคาผู้บริโภคในยูโรโซน (CPI )
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานสหรัฐฯ (Core CPI)
• เวลา 20.15 น. อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (Capacity Utilization Rate)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ (NAHB Housing Market Index)


15 ตุลาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 15 ต.ค.

วันจันทร์...ตลาด Forex จะเป็นยังไงบ้าง ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้านที่ยังกดดัน
โดยภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนค่อนข้างผันผวน
ด้วยปัจจัยวิกฤตหนี้ยุโรป ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอิหร่านและอิสราเอล
ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมานั้นขาดเสถียรภาพ
นักลงทุนจึงหันมาเข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ทว่าในช่วงคืนวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมานั้น นักลงทุนเริ่มกลับมาขายเงินดอลลาร์อีกครั้ง
หลังจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
โดยในวันศุกร์ ค่าเงินดอลลาร์มีการซื้อขายตามการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นดาวน์โจนส์
ส่วนในสัปดาห์นี้ มีการดาดการณ์ว่าค่าเงินยูโรยังคงมีแนวโน้มที่จะซื้อขายอยู่ในกรอบ 1.2850-1.3000
จนกว่าจะมีความคืบหน้าจากสถานการณ์หนี้สาธารณะยูโรโซนในอนาคต
โดยปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่ความชัดเจนว่าสเปนจะขอรับเงินช่วยเหลือเมื่อใด


การประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจที่โตเกียว IMF ชี้ว่า
ควรให้เวลากรีซเพิ่มอีก 2 ปีในการลดยอดขาดดุลงบประมาณ
แต่คาดว่าจะยังไม่ได้เงินช่วยเหลือไปอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้
ขณะที่เจ้าหนี้หลักอย่างเยอรมันและอีซีบีก็ยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ฉะนั้น ความเสี่ยงยังคงอยู่จากแรงกดดันเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
รวมถึงปัญหาหนี้ยุโรป เพราะนักลงทุนยังกังวลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาของสเปน
ถ้าสเปนขอความช่วยเหลือก็จะเป็นประเด็นบวกกับสกุลเงินยูโรทันที
ทั้งทำให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB สามารถเข้ามาซื้อพันธบัตรได้เต็มที่ด้วย
ดังนั้น ความวิตกเรื่องหนี้ยุโรปจะเป็นตัวกดดันค่าเงินยูโรและทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะขยับแข็งค่าขึ้น
จึงต้องจับตารอข้อมูลจาก การประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป (EU Summit) 18-19 ต.ค.นี้

สัปดาห์นี้จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สำคัญค่อนข้างมาก
โดยตลาดจับตาดูว่าจะออกมาดีกว่าเดิม หรือดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่องหรือไม่

  
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตในสหรัฐฯ
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีภาวะธุรกิจ​โดยรวม​ของสหรัฐฯ (Empire State Manufacturing Index)
• เวลา 21.00 น. ตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ (Business Inventories)

12 ตุลาคม 2555

IMF Meetings

วันนี้เป็นวันแรก (Day 1 - IMF Meetings) ในการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟที่กรุงโตเกียว
น่าจับตาดูเพราะความคืบหน้าของผลการประชุมในแต่ละช่วง อาจจะสร้างความผันผวนได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวาน สกุลเงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลง ขณะที่เงินยูโรก็ต้องแข็งค่าขึ้น
แม้นว่าช่วงค่ำเมื่อวาน ตัวเลขเศรษฐกิจทางสหรัฐฯ จะออกมาดีก็ตาม
ปัจจัยที่หนุนสกุลเงินยูโรคือการผ่อนคลายท่าทีของ IMF จากคำกล่าวของผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟว่า
สเปนและกรีซควรจะได้รับเวลามากขึ้นในการปรับลดยอดการขาดดุล
ถือเป็นประเด็นที่ช่วยคลายความตึงเครียดในฝั่งยุโรปลงบ้าง

ทั้งนี้ แม้นว่าตัวเลขขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาด
ทว่าที่สุดก็ถูกหักล้างไปด้วยการปรับลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่นำโดย Apple
หลังจากบริษัทแพ้คดีลิขสิทธิ์กับ Samsung
นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยังได้กล่าวว่า
มีรัฐหนึ่งที่ไม่ได้ส่งตัวเลขตามปกติเนื่องจากติดขัดปัญหาทางเทคนิค
ส่งผลให้นักลงทุนต้องตามตัวเลขในสัปดาห์หน้าต่อเพื่อความชัดเจน
ส่วนในฝั่งยุโรปไม่มีพัฒนาการใดๆ จากเมื่อวานนี้
ไม่ว่าประเด็นสเปนขอรับความช่วยเหลือ หรือการประเมินฐานะการคลังของกรีซ
โดยโฟกัสของตลาดจะไปอยู่ที่การประชุม EU Summit 18-19 ต.ค.
ซึ่งผลประชุมน่าจะออกมาเป็นกลางถึงเชิงบวก

รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อให้สัตยาบันสนธิสัญญาทางการคลังของอียู
ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกยูโรโซนต้องลดยอดขาดดุลงบประมาณลง
มิฉะนั้นจะเผชิญกับการคว่ำบาตร
ทั้งนี้ สนธิสัญญาทางการคลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2557
เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดและปรับปรุงความน่าเชื่อถือทางการเงินของอียู
ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อย่างฝรั่งเศสกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

ธนาคารกลางสเปนได้ออกมาเปิดเผยรายงานว่า
หนี้สินของธนาคารในสเปนที่กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นั้น
ลดลง 2.7% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 11 เดือน
แม้ว่าหนี้สินลดลงแตะ 3.782 แสนล้านยูโรในเดือนกันยายน
แต่ระบบการธนาคารของสเปน ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ 43.1% ของหนี้สินทั้งหมด
ในยูโรโซนนั้นยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ


ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 16.00 น. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือนในยุโรป (Industrial Production)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตในสหรัฐฯ (PPI)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานของสหรัฐฯ (Core PPI) 
• เวลา 20.55 น. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นสหรัฐฯ (Prelim UoM Consumer Sentiment)

11 ตุลาคม 2555

S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือของสเปน

สัปดาห์นี้ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
อันเนื่องจากประเด็นจากยุโรปที่ได้กลับมาเป็นเป้าสนใจของนักลงทุน
อีกทั้งคำเตือนเกี่ยวกับโอกาสในการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกในยูโรโซน
จึงทำให้การเคลื่อนไหวของเงินยูโรยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง
แม้ว่าเมื่อวานนี้ ผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีในเดือนส.ค. จะปรับตัวขึ้น 1.7%
และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสในเดือนส.ค. ก็พุ่งขึ้น 1.5%



และผลจากการประชุมรมว.คลังยุโรป ซึ่งไม่มีประเด็นใหม่ที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดได้
กอปรกับ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ได้กล่าวว่า
กรีซยังต้องทำการรัดเข็มขัดเศรษฐกิจและทำงานหนักในการปฏิรูปมากกว่านี้
จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลด้านจิตวิทยาในฝั่งยุโรปไม่สู้ดีนัก
รวมถึงการที่นักลงทุนกลับไปกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจอีก
หลังจาก  IMF และธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจโลกลง

ด้านสถาบันจัดอันดับเครดิต สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์  (S&P)
ก็ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสเปนลง 2 ขั้น สู่ระดับ BBB- จาก BBB+
นับว่าสูงกว่าระดับขยะเพียงขั้นเดียวเท่านั้น พร้อมกันให้แนวโน้มเชิงลบ
โดยเอสแอนด์พีระบุว่าภาวะเศรษฐกิจสเปนนั้นถดถอยรุนแรงขึ้น
และขาดทิศทางที่ชัดเจนในนโยบายของยูโรโซน
ดังนั้นต้องตามดูว่ามูดี้ส์ะลดสเปนลงไปเป็นระดับขยะด้วยหรือไม่

ส่วน นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ออกมาแถลงว่า
อังกฤษจะไม่อนุมัติการเพิ่มงบประมาณให้แก่สหภาพยุโรป เพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น
โดยให้เหตุผลว่าการช่วยให้สหภาพยุโรปเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะเป็นเป็นสิ่งที่ดี
แต่จะส่งผลให้อังกฤษต้องลดรายจ่ายต่างๆ และอาจส่งผลให้ประชาชนชาวอังกฤษบางส่วนได้รับความเดือดร้อนด้วย

รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ หรือ Beige Book ของสหรัฐฯ เผยว่า
เศรษฐกิจในประเทศ 'ขยายตัวเล็กน้อย' ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยทั่วไปทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ยอดค้าปลีกในหลายเขตก็มีการขยายตัวเล็กน้อย
ทั้งนี้ เฟดระบุว่าสถานการณ์ในภาคการผลิตอาจปรับตัวแตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้น
ยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านที่พักอาศัยของสหรัฐฯ นั้นก็ปรับตัวดีเช่นกัน
โดยยอดขายบ้านในเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า
ญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะคล้ายกับที่หลายประเทศในยูโรโซนกำลังเผชิญอยู่
พร้อมกับเตือนเรื่องระดับหนี้สินของญี่ปุ่นที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเร่งใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูสถานะการคลัง
ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งยังแนะนำให้ธนาคารภายในประเทศญี่ปุ่นตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการมีหนี้สินจำนวนมาก
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากจากต่างประเทศ อันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน
เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องการถือครองสินทรัพย์ของญี่ปุ่นซึ่งมีความปลอดภัย
และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ปรับตัวลดลงเกือบแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ก็ผลักดันให้สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดด้วย
ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตของประเทศ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขดุลการค้าในสหรัฐฯ (Trade Balance)
• เวลา 19.30 น. ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคานำเข้าของสหรัฐฯ (Import Prices)
• เวลา 22.00 น. ตัวเลขสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ในสหรัฐฯ (Crude Oil Inventories)

เชิญ คลิก!!! อ่าน หลากหลายอุปสรรคสกัดเงินเอเชียแข็งค่า
โดย กรุงเทพธุรกิจ

9 ตุลาคม 2555

บ่ายสองครึ่ง ประธาน ECB กล่าวสุนทรพจน์

เมื่อวาน สกุลเงินยูโรร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์และเยน
ขณะที่เงินปอนด์ก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ



ผลการประชุม Eurogroup Meetings เมื่อวานว่าด้วยเรื่อง
กองทุนกล​ไกรักษา​เสถียรภาพยุ​โรป หรือ ESM
โดยรัฐมนตรีคลังจาก 17 ประ​เทศสมาชิกยู​โร​โซนได้เปิดตัว ESM อย่างเป็นทางการแล้ว
ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะ​ทำหน้าที่ป้องกันวิกฤต ​และมีศักยภาพ​ใน​การปล่อย​เงินกู้​โดยรวม 5 ​แสนล้านยู​โร
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรกรุ๊ปในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียม ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องกรีซ
แต่คาดว่าผลการประเมินฐานะการคลังของกรีซจะเสร็จในต้นเดือน พ.ย.
ทั้งจะให้เวลากรีซจนกระทั่งถึงวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป
ที่กรีซจะต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถทำตามเงื่อนไขของยูโรโซนในการปฏิรูปเศรษฐกิจกรีซเพิ่มเติม
เพื่อแลกกับการที่กรีซอาจจะได้รับเงินกู้จากเจ้าหนี้กลุ่มสหภาพยุโรปเพิ่มเติมอีก 31,500 ล้านยูโร
หรือประมาณ 40,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ฉะนั้น การประชุมประเด็นใหญ่เมื่อวานนี้ จึงโฟกัสไปอยู่ที่กรีซว่า
จะสามารถตกลงกับ Troika ได้หรือไม่ก่อนการประชุม EU Summit ในช่วง 18-19 ต.ค.
ซึ่งถือเป็นเส้นตายที่ตลาดต้องเริ่มจับตาอย่างจดจ่อ
พร้อมกันนั้นการประชุมบอร์ดกองทุน ESM ก็ไม่มีการพิจารณาเรื่องสเปนจะขอความช่วยเหลือ
โดยหลังการประชุมได้มีการแถลงว่าสเปนไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือในขณะนี้
ดังนั้นเม็ดเงินจากมาตรการซื้อพันธบัตรรอบใหม่ (OMT) จะยังไม่เข้าสู่ตลาด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนที่มีสมาชิก 17 ประเทศ จะหดตัวรุนแรงขึ้นในปีนี้
และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะอ่อนแรงกล่าวที่คาดไว้
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเตือนว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของยูโรโซนจะต้องสกัดวิกฤตการคลังของภูมิภาค
และผลักดันการรวมกลุ่มทางการคลังและการธนาคารให้มีความคืบหน้า
จึงจะสามารถทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนมีการฟื้นตัวในปีหน้า


วันนี้ ประมาณ 14.30 น. จับตาดูการแถลงการณ์ของประธานอีซีบี ECB (President Draghi Speaks)
และการประชุม ECOFIN Meetings โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการทางการเงิน

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• All Day ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ECOFIN Meetings)
• เวลา 13.45 น. ยอดดุลการค้าในฝรั่งเศส (French Trade Balance)
• เวลา 14.30 น. สุนทรพจน์ประธานธนาคารกลางยุโรป (President Draghi Speaks)
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอังกฤษ (Manufacturing Production)
• เวลา 21.00 น. ตัวเลขมุมมองเศรษฐกิจในสหรัฐฯ (IBD/TIPP Economic Optimism)

*** พรุ่งนี้ งดอัพเดทบล็อก ด้วยมีธุระ ***

8 ตุลาคม 2555

Eurogroup Meetings

สัปดาห์ที่ผ่านมา...ภาพรวมตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดี
ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามาตรการ QE3 อาจสั้นลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์
โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. ประกาศออกมาเพิ่มขึ้นเกินคาด
รวมทั้งอัตราการว่างงานก็ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากเกิดวิกฤติซับไพรม์
จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยหนุนความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

กระนั้น ก็มีนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขว่างงานดังกล่าว
ด้วยเป็นที่ทราบกันว่านี่อาจเป็นตัวเลขการเมือง เพราะอยู่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ
ทำให้เกิดคำถามเซ็งแซ่ว่ามีการตกแต่งตัวเลขดังกล่าวหรือไม่ เพื่อผลต่อคะแนนเสียง

วันนี้คงต้องจับตาดูทางยุโรปเป็นสำคัญ 
เพราะเป็นวันที่กองทุนช่วยเหลือ ESM จะมีผลทางกหมายเป็นวันแรก
ทั้งบอร์ดกอง
ทุนจะมีการประชุมกันในวันนี้เช่นกัน 

นอกจากนี้ยังมีการประชุม รมว.คลังของกลุ่ยุโรป (Eurogroup Meetings) ในวันนี้ด้วย
แต่มีกระสที่คาดว่าจะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับประเทศสเปนและกรีซออกมาในวันนี้
เนื่องจากค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าสเปนจะยังไม่ขอความช่วยเหลือในระยะสั้น
ขณะกรีซยังต้องการเวลาอีกสองสามสัปดาห์ในการเจรจากับเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย (Troika) เกี่ยวกับเงื่อนไขการรัดเข็มขัด
เพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหนี้ยอมตกลงจ่ายเงินช่วยเหลืองวดใหม่
โดย นายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส เผยว่า กรีซจะไม่มีเงินบริหารประเทศ
เพราะรัฐบาลกรีซเหลืองบประมาณสำหรับใช้ในการบริหารประเทศได้จนถึงเดือนเดือนพ.ย. เท่านั้น
ทั้งย้ำว่ารัฐบาลไม่อาจร้องขอให้ประชาชนยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่เป็นอยู่
พร้อมกับยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ประเทศของตนใกล้ที่จะก้าวเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างสิ้นเชิงแล้ว
“ที่ผ่านมา เราได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วเพื่อตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐและการขาดดุลงบประมาณ
มาตรการรัดเข็มขัดขนานใหญ่ที่เราบังคับใช้กับประชาชนของเราก่อนหน้านี้
มันไม่ต่างอะไรกับบาดแผลที่ลึกจนถึงกระดูกของเราแล้ว ซึ่งหมายความว่า
เราคงจะไม่สามารถออกมาตรการรัดเข็มขัดใดๆเพิ่มเติมได้อีก” ซามาราสกล่าว

เมื่อวานนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้พูดถึงโครงการซื้อพันธบัตรรอบใหม่เป็นนัยๆ ว่า
อีซีบีจะหยุดโครงการ OMT ทันที เมื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แล้ว
หรือจะหยุดหากประเทศนั้นๆ ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือตามโครงการนี้
ทั้งนี้ นายดรากีพูดชัดเจนว่าตอนนี้อีซีบีพร้อมที่เริ่มดำเนินโครงการ OMT แล้ว
แต่ก็ต้องรอให้รัฐบาลของประเทศที่มีปัญหามีการร้องขออย่างเป็นทางการก่อน
ซึ่งสเปนถูกมองว่าเป็นประเทศที่น่าจะเข้าโครงการนี้มากที่สุด
ทว่าจนถึงตอนนี้ สเปนก็ยังไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศยูโรโซนอย่างเป็นทางการ

ด้าน นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า
สหภาพยุโรป (EU) ควรมีงบประมาณที่แยกกันสำหรับยูโรโซนและประเทศนอกกลุ่มยูโรโซน
โดยระบุว่าเขาจะคัดค้านงบประมาณใหม่ของอียู หากจำเป็น หรือมีการเสนอให้เพิ่มงบประมาณขึ้นอย่างมาก
หรือว่าหากมีการเดินหน้าข้อตกลงที่ไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม
นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังเสริมอีกว่าประเทศต่างๆ ไม่สามารถจะทุ่มเงินให้กับอียูได้อีกต่อไป
ขณะที่ต้องปรับลดงบประมาณภายในประเทศของตัวเอง


 การประชุมที่ต้องติดตามทางฝั่งยุโรป
•  8 ต.ค. ประชุมรมต.คลัง 17 ชาติที่ใช้เงินสกุลยูโร/
ประชุมระหว่างประธานยูโรกรุ๊ปกับบอร์ดกองทุน ESM
•  9 ต.ค. ประชุมรมต.คลัง 27 ชาติสมาชิกยูโร
(ปธ.อีซีบีแถลงเปิดประชุม)/นายกเยอรมันเยือนกรีซ
10 ต.ค. ปธน.สเปนกับฝรั่งเศสพบปะพูดคุยกันที่ปารีส
11 ต.ค. ประชุมกลุ่ม G7 เรื่องวิกฤติหนี้ยุโรป
12-14 ต.ค. ประชุมรายครึ่งปีของ IMF และธนาคารโลก


ตัวเลขเศรษฐกิจในวันนี้
- ไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ