27 ตุลาคม 2555

3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์

น้อมขออภัยที่ห่างหายและหลบลี้ไม่มาอัพข่าวสารฟอเร็กซ์เสียสองวัน
ด้วยมีงาน "ฟรีแลนซ์" จากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ติดต่อมา ทั้งเป็นงานเร่งด่วน
จึงต้องปลีกวิเวกทำงานที่ถนัดและได้เงินแน่ๆ ภายในเวลาอันจำกัด

***

ทั้งบล็อก Dream to Forex นี้...
ผมก็ทำคนเดียว แถมยังมีอีก 3 Blog กับ 1 เว็บร้าน
บางบล็อก...นานๆ ผมก็อัพเนื้อหาที บางบล็อก...ก็อาจวันเว้นวัน หรือเว้นสองวัน
ขณะที่บล็อก ดรีม ทู ฟอเร็กซ์ อาจได้ผ่อนลมหายใจลั้นลาช่วงวันเสาร์กับอาทิตย์
ฉะนั้น หากวันใดที่ผมไม่ได้มาแปะข้อมูลข่าวสารเรื่องฟอเร็กซ์บ้าง ก็ขออภัยล่วงหน้าด้วย
หรือไม่แน่ว่า...วันหนึ่งวันใด บล็อกนี้อาจนิ่งสนิท เงียบฉี่ และจบสิ้นลงก็ได้

"เม่าเงินจริง สิงห์เงินปลอม"
มีใครเป็นแบบนี้กันบ้าง?!?
แบบเล่นเงินจริงยังไงๆ ก็โดนล้างพอร์ตทุกที
เปิด BUY ราคาร่วง งั้น SELL อ้าว...กราฟขึ้นอย่างพลุ ชิบหา...
แต่พอลองเทรดเงินปลอม ไฉนกำไรได้กำไรดี พอร์ตโตวันโตคืน
แถมเล่นแล้วมันง่ายๆ สบายๆ ไม่เคร่งเครียดเท่าเงินจริง
บางทีไม่ต้องวิเคราะห์ไรมาก อินดี้ดูแวบๆ แล้วเปิดออเดอร์เลย


ใครไม่เป็นแบบนี้ยกมือขึ้น?
แต่ผมเป็นและประสบกับตัวเอง มันเป็นเพราะอะไรกันนี่?
เอางี้-- ขอให้ย้อนกลับไปอ่านโพสต์ชื่อ Buyer/Seller อีกฝั่งหนึ่งที่คุณลืมนึกถึง กันพลางๆ ก่อน

หลังจากที่เทรดเงินจริงแล้วโดนล้างพอร์ตไป 3 รอบ
ซึ่งล้างพอร์ตรอบแรกไม่ได้แปลกใจอันใด ด้วยหลายๆ คนบอกว่าทุกคนต้องผ่านประสบการณ์ตรงนี้ก่อน
ทั้งรอบแรกลงทุนในโบรกเกอร์ไปแค่ 100$ ส่วนล้างรอบสองก็มาอีหรอบเดิม
แต่ก็ยังคิดว่า เอาน่า มือใหม่ ประสบการณ์ยังน้อย ปุบปับจะเทรดพลันโชคดีได้เงินเลยรึ
พอมารอบที่ 3 รอบนี้เทรดทำกำไรได้แฮะ นั่นแหละ...ความฮึกเหิมและมั่นใจก็เกิดขึ้น
เริ่มคิดว่าตัวเองใช้ได้ ดูอินดิเคเตอร์ออก อ่านมาก แบบเริ่มเชื่อมั่นตัวเองล้นพ้น
แถมเวลาเทรด ผมไม่ชอบตั้ง SL รักจะถือติดลบ ด้วยหวังว่ายังไงๆ เดี๋ยวราคาก็กลับมาเอง
ทั้งชอบเปิดออเดอร์เพิ่มเป็นขั้นๆ และใส่ล็อตหนักขึ้นๆ...

เทรดเงินจริงรอบ 3 นี้ เริ่มแรกทำไรได้มาราว 200$ พอร์ตเริ่มโตพอง พร้อมกับความผยองในใจ
เทรดวันแล้ววันเล่าแบบเปิดล็อตน้อยๆ ตัวเลขใน Balance ค่อยๆ เพิ่มขึ้น กระทั่งเป็น 600$
(ทำไมๆ ผมไม่กดถอนออกมาบ้างนะ ทว่าตอนนั้นคิดแค่จะทำให้มีเงินในพอร์ต 1,000$ ให้ได้)
ในที่สุด...วันหนึ่งก็พลาดจนได้ ด้วยความที่ไม่ชอบตัดขาดทุน และตั้ง SL
เมื่อเปิดออเดอร์แรกโดยการ SELL พลาดแล้วราคาก็ขยับขึ้น ก็เลยมิรอช้าเบิลล็อตใส่เข้าไปอีก
อุเหม่...กราฟยังคงทะลึ่งพุ่งอย่างไม่ไว้หน้าขาเซลล์เอาซะเลย เอาวะ...เปิด SELL ต่ออีก...
สุดท้าย แบกติดลบไปสิบสองออเดอร์ ขณะ Equity ลดลงเรื่อยๆ และ Free Margin ติดลบหน้ามืด
หลังจากนั้นก็คงเดากันออก ราคายังขึ้นไม่หยุดฉุดไม่อยู่ และแล้วก็ล้างพอร์ตเป็นรอบสาม...

รอบแรกโดนไป 100$
รอบสองโดนไป 150$
รอบสามโดนไป 250$

เม่าจริงๆ ตรูนี่...Forex พอๆ ไม่ไหวๆ จะหวังเอาเงินร้อยทำกำไรให้ได้สองร้อย สามร้อย หรือห้าร้อยนี่
คิดในทางทฤษฎีเหมือนง่าย แต่เมื่อลงปฏิบัติจริง เทรดจริง เงินจริง ไปไม่รอด
ต้านทานและสู้พวกขาใหญ่ รายใหญ่ หรือพวกกองทุนสถาบันต่างๆ ที่เข้ามาเก็งกำไรไม่ไหว
วันนี้เทรดได้ พรุ่งนี้โชคดีได้อีก แต่วันต่อไป หรือวันอื่นๆ จะเป็นยังไง จะเทรดกำไรได้สม่ำเสมอไหม
เบี้ยน้อยหอยน้อยจะไปต่อกรหรือฟัดเหวี่ยงกับเหล่าทุนหนาๆ อีท่าไหนดีถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อ
ครั้นจะหันหลังแล้วเลิกเล่นฟอเร็กซ์ซะเฉยๆ ก็ให้เสียดายที่อ่าน ศึกษา และลงทุนเทรดเงินจริงมา
แถมบางทฤษฎีก็บอกว่า...การจะเป็น "เทรดเดอร์อิสระ" นั้น ต้องใช้เวลา 3 ปีอัพ หรือมากกว่านั้น

ผมก็มานั่งคิด นอนทบทวน และยืนไตร่ตรองดู...
ขืนเอาเงินใส่โบรกเกอร์ 100$ หรือ 200$ แล้วยังเทรดแบบเดิมๆ จ้องกราฟคร่ำเคร่ง
ใจร้อน มือซน แม้นพยายามบริหาร Money Management (MM) แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า
ไฉนเลยจะเทียบรัศมีกับ Market Maker (MM) หรือพวก Smart Money (SM) ได้ ด้วยต้นทุนที่ต่างกัน
พวกนี้ควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินสกุลต่างๆ และยังเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนว่าควรอยู่ที่เท่าใด
ทั้งมีเงินทุนจำนวนมากจึงต้องการเข้ามาแสวงหากำไรที่มั่นคง จะปั่นจะทุบราคาเพื่อกินรายย่อยสบาย
พวกนี้สามารถควบคุมทิศทางการตลาดได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีเงินมากก็ทำให้ตลาดผันผวนได้
เป็นเหตุให้รายย่อย (เม่า) มิอาจรักษามาร์จินที่มีอยู่ (หากไม่เติมเงินเข้าไป ก็ต้องจำใจตัดทิ้งเอง)
แล้วที่สุดออเดอร์เม่าที่ติดลบก็ถูกโบรกเกอร์ Cut Lot ทิ้งให้โดยปริยาย...กระทั่งล้างพอร์ต

แต่ครั้นจะเอาเงิน 100$ หรือ 200$ ไปแสวงหากำไรในตลาดฟอเร็กซ์รอบที่ 4 นั้น...
ผมขอสละสิทธิ์ เทรดเงินจริงแค่นี้จะอยู่ได้กี่วัน แม้นจะสะสมกำไรได้วันละเล็กละน้อยก็เถอะ
แล้วเกิดวันหนึ่งพลาดขึ้นมา ซึ่งโอกาสพลาดมีแน่ๆ ทั้งทุนและกำไรอาจหายภายในพริบตา

ผมจึงโละและละบางทฤษฎีทิ้งบ้าง ลืม Indicato บางตัวบ้าง เลิกอ่านความคิดเห็นในเว็บบอร์ด

จากนั้นผมก็....

***

อ่านต่อที่ CLICK >>> 3 เดือน เทรดได้ 3,500 ดอลล์ (ต่อ)








24 ตุลาคม 2555

วันนี้ สุนทรพจน์ประธานอีซีบี

ผลกระทบจากความกังวลทางเศรษฐกิจและผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในสหรัฐฯ
ได้สร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ขณะที่เงินยูโรก็ได้รับแรงกดดันจากการที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส
ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในสเปน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของสเปนพุ่งขึ้น
โดยฝั่งยุโรปมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในสเปนหลังจากมูดี้ส์ฯ ลดเครดิตของ 5 แคว้นในสเปน
เพิ่มความเสี่ยงว่าสเปนจะถูกลดเครดิตเป็นขยะในเร็วๆ นี้
พร้อมกับดันดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี สู่ 5.62% เทียบกับ 5.37% ณ สิ้นสัปดาห์ที่แล้ว

นายแอนโทนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีของกรีซ กล่าวว่า
กรีซคาดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือที่จำเป็นก่อนทุนสำรองเงินสดสกุลยูโรจะหมดลงในกลางเดือนหน้า
ซึ่งหากกรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ก็จะไม่มีเงินบริหารประเทศ

นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี

วันนี้ เวลาประมาณ 18.45 น.
จับตาดูการแถลงการณ์ของประธานธนาคารยุโรป (ECB)
โดยที่เนื้อหาจะเกี่ยวกับตัวเลขงบประมาณ
และแนวโน้มของดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งยุโรป
ที่จะมีการประชุมในเร็ววันนี้ โดยอาจสร้างความผันผวน
เชิงบวกต่อบรรยากาศค่าเงินโดยรวมได้บ้าง

 

 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 14.00 น. ดัชนี​ชี้วัดภาคการผลิตและบริการในฝรั่ง​เศส (French Flash Manufacturing & Services PMI)
• เวลา 14.30 น. ดัชนี​ชี้วัดภาคการผลิตและบริการใน​เยอรมนี (German Flash Manufacturing & Services PMI)
• เวลา 15.00 น. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (German Ifo Business Climate)
• เวลา 15.00 น. ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตและบริการในยู​โร​โซน​ (Flash Manufacturing & Services PMI)
• เวลา 17.00 น. ตัวเลขการคาดการณ์ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในอังกฤษ (CBI Industrial Order Expectations)
• เวลา 18.45 น. สุนทรพจน์ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB President Draghi Speaks)
• เวลา 21.00 น. ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ (New Home Sales)

23 ตุลาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 23 ต.ค.

ช่วงนี้...อาจเข้ามาอัพบล็อกน้อยลงบ้าง หายไปบ้าง ด้วยบางทีมีเหตุให้วุ่นๆ
หรือบางคราก็อยากปล่อยวางเรื่องฟอเร็กซ์บ้าง เพลาๆ การตามเสพข่าวลงสักเล็กน้อย
แล้วหาอะไรอย่างอื่นทำ ปลีกตัวห่างจากกราฟ แท่งเทียน ตัวเลข หรืออินดิเคเตอร์สารพัด

วันนี้ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราช...
หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

***

กลับมาที่เรื่อง Forex และข่าวเศรษฐกิจทั่วไปแบบเม่าๆ กัน



Bloomberg รายงานว่า 69% ของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ
ที่แจ้งงบแล้วนั้น มีกำไรสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ส่วนในวันอังคารและพุธนี้ จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
แต่คาดว่าอยู่ในความสนใจของตลาดน้อยลง c]tผล​การประชุมน​โยบาย​การ​เงินของ​เฟด
ก็คงยังยืนยันที่จะดำเนินการนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเหมือนเดิม

ส่วนปัจจัยในยุโรปนั้น การประชุมผู้นำยุโรป (EU Summit) สิ้นสุดลงโดยไม่มีพัฒนาการเกี่ยวกับสเปน
และการจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารจัดการธนาคาร (Banking Union) ก็ต้องรอไปถึงปี 2557 โน่น
ดังนั้น ภาพรวมของยุโรปจึงกลับไปมองที่กรีซอีกครั้ง
ซึ่งน่าจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนถัดไป 3.15 หมื่นล้านยูโรในต้นเดือน พ.ย.นี้
หลังจากที่กรีซสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงเกือบทั้งหมดกับเจ้าหนี้ได้แล้ว
ขณะที่ความไม่แน่นอนในการให้ความช่วยเหลือสเปน
หลังจากเยอรมนีมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอียู
ในเรื่องการใช้กองทุนช่วยเหลือของยูโรโซน (ESM) เพื่อเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารโดยตรงนั้น
ทำให้ตลาดยังวิตกกังวลปัญหาหนี้ของสเปนอยู่

กระทรวง​การคลัง​เยอรมนีคาดว่า
​เศรษฐกิจของประ​เทศมี​แนว​โน้มจะ​เผชิญกับภาวะชะลอตัวรุน​แรง​ใน​ไตรมาสสุดท้ายของปี 2555
อัน​เนื่องมาจากสถาน​การณ์ทาง​เศรษฐกิจของประ​เทศสมาชิกอื่นๆ ​ในยู​โร​โซนที่อ่อนแอ
โดยระบุ​ในรายงานราย​เดือนว่า​ การส่งออก​และ​การผลิตภาคอุตสาหกรรมมี​แนว​โน้มย่ำ​แย่ลง ​
ขณะที่ภาค​เอกชนลัง​เลที่จะลงทุนท่ามกลาง​ความ​ไม่​แน่นอน ​
โดยคาดว่ากิจกรรมทาง​เศรษฐกิจในเยอรมันจะชะลอลง​ในช่วงหลาย​เดือนข้างหน้า

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยว่า ยอดการส่งออกในเดือน ก.ย. ของญี่ปุ่นทรุดตัวลง 10.3%
เป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตญี่ปุ่นแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่าสองปี
ซึ่งข้อมูลตัวเลขดังกล่าวได้ตอกย้ำความวิตกที่ว่า
ญี่ปุ่นซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกอาจทรุดตัวลงสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่ยอดส่งออกไปยังจีนและยุโรปร่วงลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยเมื่อคืนนี้ สกุล​เงิน​เยนร่วงลง​แตะระดับต่ำสุด​ในรอบหลาย​เดือน​เมื่อ​เทียบกับสกุล​เงินดอลลาร์สหรัฐ ​
หลังจากมี​การคาด​การณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
และประกาศ​ใช้น​โยบายผ่อนคลายทาง​การ​เงิน​เพิ่ม​เติม​ใน​การประชุมสัปดาห์หน้า

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 15.30 น. ยอดจดจำนองในอังกฤษ (BBA Mortgage Approvals)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ( Consumer Confidence)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีภาคการผลิตสาขาริชมอนด์ในสหรัฐฯ (Richmond Manufacturing Index)

เห็นข่าวฟอเร็กซ์จาก Forexfactory ในวันพรุ่งนี้ของยุโรปแล้ว...เหนื่อย...เมื่อย...

19 ตุลาคม 2555

EU Summit วันที่สอง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบเล็กน้อยหลังจาก Google เปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอเกินคาด 
เป็นที่น่าสังเกตว่าผลประกอบการในสหรัฐฯ นั้นดีเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน
แต่กับกลุ่มภาคเศรษฐกิจจริงกลับยังไม่ค่อยดีนัก
เมื่อคืน ตัวเลขยอดขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสู่ 3.88 แสนตำแหน่ง
ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทางสถิติจากสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน
ด้วยตัวเลขดังกล่าวลดลงมากเกินจริงเพราะมี 1 รัฐยังไม่ได้รายงานตัวเลข
ส่วนดัชนีแนวโน้มธุรกิจปรับดีขึ้น และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ปรับขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ด้านข่าวคราวทางฝั่งยุโรปนั้น
สเปนประมูลพันธบัตรมูลค่า 4.6 พันล้านยูโรด้วยความต้องการที่แข็งแกร่งและดอกเบี้ยที่ลดลงต่อ
น่าจะเป็นสัญญาณชี้ว่าสเปนยังไม่มีความจำเป็นที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินในระยะสั้น
ส่วนกรีซก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากมีรายงานข่าวว่ากรีซสามารถสรุปเงื่อนไขกับเจ้าหนี้ได้แล้ว
ทั้งนี้กลุ่มผู้นำยุโรปได้เสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดในวันแรกแล้ว โดยในวันนี้จะประชุม EU Summit ต่อ
ซึ่งนักลงทุนเริ่มไม่คาดหวังว่าจะมีการประกาศอะไรออกมาเซอร์ไพรส์ตลาด
และมีข่าวว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ว่า
ไม่ได้มีการคุยกันเกี่ยวกับเรื่องสเปนในการประชุมวันแรกแต่อย่างใด

เมื่อวาน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น
ปัจจัยหนึ่งเพราะความไม่มั่นใจว่าสเปนจะขอความช่วยเหลือหรือไม่ ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลง
แม้ว่าการประมูลขายพันธบัตรของสเปนจะได้รับการตอบรับที่น่าพอใจก็ตาม
อีกทั้งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้มีการหารือกัน
ทว่าก็มีบางประเด็นที่เกิดความขัดแย้งเรื่องที่สหภาพยุโรปสามารถควบคุมในเรื่องงบประมาณของชาติ
และก่อตั้งระบบควบคุมดูแลภาคธนาคารได้มากน้อยเพียงใด
ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสต้องการมุ่งความสำคัญไปที่การดูแลระบบธนาคารให้มีการดำเนินการเร็วที่สุด
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเห็นว่าควรมุ่งความสนใจไปที่บทบัญญัติทางการคลังเพิ่มขึ้น
และเพิ่มอำนาจคณะกรรมาธิการยุโรปให้ใช้สิทธิ์ยับยั้งงบประมาณรายจ่ายของประเทศสมาชิกอียู 

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ประกาศคงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของระบบธนาคาร
ของเยอรมนีเอาไว้ที่ 'เชิงลบ'
โดยพิจารณาถึงความอ่อนแอในด้านการดำเนินงาน
อันเนื่องมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วยุโรป
คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอย
และศักยภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดในการรับมือกับภาวะขาดทุนของธนาคาร

นายริชาร์ด ซี คู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ
เจ้าของแนวคิด “balance sheet recession” หรือการชะลอตัวเนื่องจากการหดตัวของงบดุล
กล่าวว่า ตอนนี้แนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับเศรษฐกิจประเทศตะวันตกเกือบทุกแห่ง
โดยเขาก็เกรงว่าสถานการณ์ในยุโรปจะแย่ลงเรื่อยๆ ด้วย

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้

• เวลา 13.00 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตรายเดือนในเยอรมันรายเดือน (German PP)
• เวลา 15.00 น. ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในยุโรป (Current Account)
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขการปล่อยกู้ภาครัฐของอังกฤษ (Public Sector Net Borrowing)
• เวลา 21.00 น. ยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐ​ฯ (Existing Home Sales)


18 ตุลาคม 2555

EU Economic Summit วันแรก

บางเวลาชีวิตก็อยากเกียจคร้านบ้าง เหลวไหลบ้าง อืดอาดบ้าง
เพราะผมทำบล็อก Forex นี้ขึ้นมาก็ไม่ได้เงินได้ทองอันใด ไม่มีลิงก์เชิญชวนให้สมัครต่อ
ส่วนข้อมูลที่นำมาลงนั้นก็ตระเวนหาตามเว็บต่างๆ แล้วนำมาขยำรวมบ้าง ลอกมาแล้วย่อบ้าง
จึงไม่รู้ว่าจะลงเครดิตหรือแหล่งที่มาอย่างไร ซึ่งก็ต้องขอบคุณข่าวสารจากเว็บต่างๆ ด้วย

เมื่อคืนนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเริ่มสร้างบ้านใหม่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี
ส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ที่ออกมาเป็นบวกในระยะหลังส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า มาตรการ QE3 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ส่วนด้านยุโรปก็มีแนวโน้มเชิงบวกเช่นเดียวกัน
หลังจาก มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ฯ ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนไว้ที่ Baa3
บนสมมติฐานว่าสเปนจะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศในเร็วๆ นี้
จึงทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากความคิดในเชิงบวกดังกล่าว
โดยในช่วงสองวันนี้ค่าเงินยูโรดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ก็จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนอยู่ที่ BBB- 
ส่วน ฟิทช์ เรทติ้งส์  จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนสูงกว่าเอสแอนด์พี 1 ขั้น
โดยอยู่ที่ BBB แต่ให้แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบ

โฟกัสตลาดตอนนี้อยู่ที่การประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป EU Economic Summit 
หรืออียูซัมมิท วันที่ 18-19 ต.ค. (วันนี้และพรุ่งนี้)
โดยเหล่าผู้นำยุโรปจะมารวมตัวที่กรุงบรัสเซลส์
เพื่อหารือถึงวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่กำลังเป็นไปอยู่ในขณะนี้
วันนี้ จึงควรจับตาดูการประชุมอียูซัมมิทเป็นวันแรก
โดยเนื้อหาในการประชุมจะเน้นไปที่
แผนงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือสเปนและกรีซ
ซึ่งน่าจะสร้างความผันผวนต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม




สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P)
ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของไซปรัส
ลงสู่ระดับ B จากเดิมที่ BB โดยมีแนวโน้มเชิงลบ
ขณะที่รัฐบาลไซปรัสเตรียมการหารือรอบสุดท้ายว่าด้วยข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มทรอยก้า

จอร์จ โซรอส  มหาเศรษฐีนักลงทุน
กล่าวในที่ประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ ณ มหานครนิวยอร์ก ว่า
เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงเนื่องจากภาคครัวเรือนลดการใช้จ่าย
โดยรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เคยใช้ได้ผลในอดีตนั้นกำลังอ่อนแรงลง
เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่เพิ่มขึ้นช้าลง
ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซา
พร้อมกับลางร้ายที่เสริมเข้ามาก็คือกระแสเงินหยวนไหลออกนอกประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
เชิญอ่านบทความ >>> เงินหยวนแห่ไหลออก ลางร้ายจีนซบยาว

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขยอดค้าปลีกในอังกฤษ (Retail Sales)
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 21.00 น. ผลสำรวจ​แนว​โน้มธุรกิจสหรัฐ​ฯ เดือนต.ค.จาก​เฟดฟิลา​เดล​เฟีย (Philly Fed Manufacturing Index)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือนก.ย. จาก Conference Board (CB Leading Index)

16 ตุลาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 16 ต.ค.

เมื่อคืนนี้ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาสูงขึ้นเกินคาด
ซึ่งปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
โดยตัวเลขทางสหรัฐฯ ที่ออกมาดีถือป็นปัจจัยชี้ให้เห็นว่า
การแทรกแซงตลาดของเฟดผ่านมาตรการ QE3 อาจมีระยะเวลาที่สั้นลง

ส่วนวิกฤติหนี้ในยูโรโซนเริ่มมีสัญญาณบวกหลังนายกรัฐมนตรีกรีซระบุว่า
มีโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้เกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหม่ได้
ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป หรือ EU Summit ในวันที่ 18-19 ต.ค.นี้
รวมทั้งยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลสเปนใกล้ที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินในเดือน พ.ย.
ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้อีซีบีสามารถเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนได้ และช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของสเปน
นักลงทุนยังรอดูว่าการประชุมสุดยอดผู้นำเป็นเวลาสองวันของสหภาพยุโรป (อียู)
ซึ่งจะเปิดฉากในวันพฤหัสบดีนี้ จะนำไปสู่ความคืบหน้าการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ของยูโรโซนได้หรือไม่

นายอังเคิล กูร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้แถลง
นอกรอบการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเวิลด์แบงก์ในกรุงโตเกียว
แนะนำให้สเปนขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป โดยให้เริ่มดำเนินการเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล 
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อสเปนในการขอความช่วยเหลือจากกลไกเสถียรภาพยุโรป
ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือทางการเงินของยูโรโซน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 15.00 น. ตัวเลขดุลการค้าในอิตาลี (Italian Trade Balance)
• เวลา 15.30 น. ดัชนีราคาผู้บริโภคอังกฤษ (CPI)
• เวลา 15.30 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตรายเดือนในอังกฤษ (PPI Input)
• เวลา 15.30 น. ดัชนีราคาสินค้าขายปลีกในอังกฤษ (RPI)
• เวลา 16.00 น. ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของยุโรป (German ZEW Economic Sentiment)
• เวลา 16.00 น. ดัชนีราคาผู้บริโภคในยูโรโซน (CPI )
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานสหรัฐฯ (Core CPI)
• เวลา 20.15 น. อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (Capacity Utilization Rate)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ (NAHB Housing Market Index)


15 ตุลาคม 2555

ข่าวฟอเร็กซ์ 15 ต.ค.

วันจันทร์...ตลาด Forex จะเป็นยังไงบ้าง ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้านที่ยังกดดัน
โดยภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนค่อนข้างผันผวน
ด้วยปัจจัยวิกฤตหนี้ยุโรป ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอิหร่านและอิสราเอล
ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมานั้นขาดเสถียรภาพ
นักลงทุนจึงหันมาเข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ทว่าในช่วงคืนวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมานั้น นักลงทุนเริ่มกลับมาขายเงินดอลลาร์อีกครั้ง
หลังจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
โดยในวันศุกร์ ค่าเงินดอลลาร์มีการซื้อขายตามการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นดาวน์โจนส์
ส่วนในสัปดาห์นี้ มีการดาดการณ์ว่าค่าเงินยูโรยังคงมีแนวโน้มที่จะซื้อขายอยู่ในกรอบ 1.2850-1.3000
จนกว่าจะมีความคืบหน้าจากสถานการณ์หนี้สาธารณะยูโรโซนในอนาคต
โดยปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่ความชัดเจนว่าสเปนจะขอรับเงินช่วยเหลือเมื่อใด


การประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจที่โตเกียว IMF ชี้ว่า
ควรให้เวลากรีซเพิ่มอีก 2 ปีในการลดยอดขาดดุลงบประมาณ
แต่คาดว่าจะยังไม่ได้เงินช่วยเหลือไปอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้
ขณะที่เจ้าหนี้หลักอย่างเยอรมันและอีซีบีก็ยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ฉะนั้น ความเสี่ยงยังคงอยู่จากแรงกดดันเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
รวมถึงปัญหาหนี้ยุโรป เพราะนักลงทุนยังกังวลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาของสเปน
ถ้าสเปนขอความช่วยเหลือก็จะเป็นประเด็นบวกกับสกุลเงินยูโรทันที
ทั้งทำให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB สามารถเข้ามาซื้อพันธบัตรได้เต็มที่ด้วย
ดังนั้น ความวิตกเรื่องหนี้ยุโรปจะเป็นตัวกดดันค่าเงินยูโรและทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะขยับแข็งค่าขึ้น
จึงต้องจับตารอข้อมูลจาก การประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป (EU Summit) 18-19 ต.ค.นี้

สัปดาห์นี้จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สำคัญค่อนข้างมาก
โดยตลาดจับตาดูว่าจะออกมาดีกว่าเดิม หรือดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่องหรือไม่

  
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตในสหรัฐฯ
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีภาวะธุรกิจ​โดยรวม​ของสหรัฐฯ (Empire State Manufacturing Index)
• เวลา 21.00 น. ตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ (Business Inventories)

12 ตุลาคม 2555

IMF Meetings

วันนี้เป็นวันแรก (Day 1 - IMF Meetings) ในการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟที่กรุงโตเกียว
น่าจับตาดูเพราะความคืบหน้าของผลการประชุมในแต่ละช่วง อาจจะสร้างความผันผวนได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวาน สกุลเงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลง ขณะที่เงินยูโรก็ต้องแข็งค่าขึ้น
แม้นว่าช่วงค่ำเมื่อวาน ตัวเลขเศรษฐกิจทางสหรัฐฯ จะออกมาดีก็ตาม
ปัจจัยที่หนุนสกุลเงินยูโรคือการผ่อนคลายท่าทีของ IMF จากคำกล่าวของผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟว่า
สเปนและกรีซควรจะได้รับเวลามากขึ้นในการปรับลดยอดการขาดดุล
ถือเป็นประเด็นที่ช่วยคลายความตึงเครียดในฝั่งยุโรปลงบ้าง

ทั้งนี้ แม้นว่าตัวเลขขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาด
ทว่าที่สุดก็ถูกหักล้างไปด้วยการปรับลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่นำโดย Apple
หลังจากบริษัทแพ้คดีลิขสิทธิ์กับ Samsung
นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยังได้กล่าวว่า
มีรัฐหนึ่งที่ไม่ได้ส่งตัวเลขตามปกติเนื่องจากติดขัดปัญหาทางเทคนิค
ส่งผลให้นักลงทุนต้องตามตัวเลขในสัปดาห์หน้าต่อเพื่อความชัดเจน
ส่วนในฝั่งยุโรปไม่มีพัฒนาการใดๆ จากเมื่อวานนี้
ไม่ว่าประเด็นสเปนขอรับความช่วยเหลือ หรือการประเมินฐานะการคลังของกรีซ
โดยโฟกัสของตลาดจะไปอยู่ที่การประชุม EU Summit 18-19 ต.ค.
ซึ่งผลประชุมน่าจะออกมาเป็นกลางถึงเชิงบวก

รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อให้สัตยาบันสนธิสัญญาทางการคลังของอียู
ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกยูโรโซนต้องลดยอดขาดดุลงบประมาณลง
มิฉะนั้นจะเผชิญกับการคว่ำบาตร
ทั้งนี้ สนธิสัญญาทางการคลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2557
เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดและปรับปรุงความน่าเชื่อถือทางการเงินของอียู
ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อย่างฝรั่งเศสกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

ธนาคารกลางสเปนได้ออกมาเปิดเผยรายงานว่า
หนี้สินของธนาคารในสเปนที่กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นั้น
ลดลง 2.7% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 11 เดือน
แม้ว่าหนี้สินลดลงแตะ 3.782 แสนล้านยูโรในเดือนกันยายน
แต่ระบบการธนาคารของสเปน ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ 43.1% ของหนี้สินทั้งหมด
ในยูโรโซนนั้นยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ


ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 16.00 น. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือนในยุโรป (Industrial Production)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตในสหรัฐฯ (PPI)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานของสหรัฐฯ (Core PPI) 
• เวลา 20.55 น. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นสหรัฐฯ (Prelim UoM Consumer Sentiment)

11 ตุลาคม 2555

S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือของสเปน

สัปดาห์นี้ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
อันเนื่องจากประเด็นจากยุโรปที่ได้กลับมาเป็นเป้าสนใจของนักลงทุน
อีกทั้งคำเตือนเกี่ยวกับโอกาสในการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกในยูโรโซน
จึงทำให้การเคลื่อนไหวของเงินยูโรยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง
แม้ว่าเมื่อวานนี้ ผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีในเดือนส.ค. จะปรับตัวขึ้น 1.7%
และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสในเดือนส.ค. ก็พุ่งขึ้น 1.5%



และผลจากการประชุมรมว.คลังยุโรป ซึ่งไม่มีประเด็นใหม่ที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดได้
กอปรกับ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ได้กล่าวว่า
กรีซยังต้องทำการรัดเข็มขัดเศรษฐกิจและทำงานหนักในการปฏิรูปมากกว่านี้
จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลด้านจิตวิทยาในฝั่งยุโรปไม่สู้ดีนัก
รวมถึงการที่นักลงทุนกลับไปกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจอีก
หลังจาก  IMF และธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจโลกลง

ด้านสถาบันจัดอันดับเครดิต สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์  (S&P)
ก็ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสเปนลง 2 ขั้น สู่ระดับ BBB- จาก BBB+
นับว่าสูงกว่าระดับขยะเพียงขั้นเดียวเท่านั้น พร้อมกันให้แนวโน้มเชิงลบ
โดยเอสแอนด์พีระบุว่าภาวะเศรษฐกิจสเปนนั้นถดถอยรุนแรงขึ้น
และขาดทิศทางที่ชัดเจนในนโยบายของยูโรโซน
ดังนั้นต้องตามดูว่ามูดี้ส์ะลดสเปนลงไปเป็นระดับขยะด้วยหรือไม่

ส่วน นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ออกมาแถลงว่า
อังกฤษจะไม่อนุมัติการเพิ่มงบประมาณให้แก่สหภาพยุโรป เพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น
โดยให้เหตุผลว่าการช่วยให้สหภาพยุโรปเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะเป็นเป็นสิ่งที่ดี
แต่จะส่งผลให้อังกฤษต้องลดรายจ่ายต่างๆ และอาจส่งผลให้ประชาชนชาวอังกฤษบางส่วนได้รับความเดือดร้อนด้วย

รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ หรือ Beige Book ของสหรัฐฯ เผยว่า
เศรษฐกิจในประเทศ 'ขยายตัวเล็กน้อย' ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยทั่วไปทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ยอดค้าปลีกในหลายเขตก็มีการขยายตัวเล็กน้อย
ทั้งนี้ เฟดระบุว่าสถานการณ์ในภาคการผลิตอาจปรับตัวแตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้น
ยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านที่พักอาศัยของสหรัฐฯ นั้นก็ปรับตัวดีเช่นกัน
โดยยอดขายบ้านในเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า
ญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะคล้ายกับที่หลายประเทศในยูโรโซนกำลังเผชิญอยู่
พร้อมกับเตือนเรื่องระดับหนี้สินของญี่ปุ่นที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเร่งใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูสถานะการคลัง
ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งยังแนะนำให้ธนาคารภายในประเทศญี่ปุ่นตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการมีหนี้สินจำนวนมาก
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากจากต่างประเทศ อันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน
เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องการถือครองสินทรัพย์ของญี่ปุ่นซึ่งมีความปลอดภัย
และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ปรับตัวลดลงเกือบแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ก็ผลักดันให้สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดด้วย
ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตของประเทศ

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 19.30 น. ตัวเลขดุลการค้าในสหรัฐฯ (Trade Balance)
• เวลา 19.30 น. ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 19.30 น. ดัชนีราคานำเข้าของสหรัฐฯ (Import Prices)
• เวลา 22.00 น. ตัวเลขสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ในสหรัฐฯ (Crude Oil Inventories)

เชิญ คลิก!!! อ่าน หลากหลายอุปสรรคสกัดเงินเอเชียแข็งค่า
โดย กรุงเทพธุรกิจ

9 ตุลาคม 2555

บ่ายสองครึ่ง ประธาน ECB กล่าวสุนทรพจน์

เมื่อวาน สกุลเงินยูโรร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์และเยน
ขณะที่เงินปอนด์ก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ



ผลการประชุม Eurogroup Meetings เมื่อวานว่าด้วยเรื่อง
กองทุนกล​ไกรักษา​เสถียรภาพยุ​โรป หรือ ESM
โดยรัฐมนตรีคลังจาก 17 ประ​เทศสมาชิกยู​โร​โซนได้เปิดตัว ESM อย่างเป็นทางการแล้ว
ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะ​ทำหน้าที่ป้องกันวิกฤต ​และมีศักยภาพ​ใน​การปล่อย​เงินกู้​โดยรวม 5 ​แสนล้านยู​โร
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรกรุ๊ปในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียม ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องกรีซ
แต่คาดว่าผลการประเมินฐานะการคลังของกรีซจะเสร็จในต้นเดือน พ.ย.
ทั้งจะให้เวลากรีซจนกระทั่งถึงวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป
ที่กรีซจะต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถทำตามเงื่อนไขของยูโรโซนในการปฏิรูปเศรษฐกิจกรีซเพิ่มเติม
เพื่อแลกกับการที่กรีซอาจจะได้รับเงินกู้จากเจ้าหนี้กลุ่มสหภาพยุโรปเพิ่มเติมอีก 31,500 ล้านยูโร
หรือประมาณ 40,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ฉะนั้น การประชุมประเด็นใหญ่เมื่อวานนี้ จึงโฟกัสไปอยู่ที่กรีซว่า
จะสามารถตกลงกับ Troika ได้หรือไม่ก่อนการประชุม EU Summit ในช่วง 18-19 ต.ค.
ซึ่งถือเป็นเส้นตายที่ตลาดต้องเริ่มจับตาอย่างจดจ่อ
พร้อมกันนั้นการประชุมบอร์ดกองทุน ESM ก็ไม่มีการพิจารณาเรื่องสเปนจะขอความช่วยเหลือ
โดยหลังการประชุมได้มีการแถลงว่าสเปนไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือในขณะนี้
ดังนั้นเม็ดเงินจากมาตรการซื้อพันธบัตรรอบใหม่ (OMT) จะยังไม่เข้าสู่ตลาด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนที่มีสมาชิก 17 ประเทศ จะหดตัวรุนแรงขึ้นในปีนี้
และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะอ่อนแรงกล่าวที่คาดไว้
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเตือนว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของยูโรโซนจะต้องสกัดวิกฤตการคลังของภูมิภาค
และผลักดันการรวมกลุ่มทางการคลังและการธนาคารให้มีความคืบหน้า
จึงจะสามารถทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนมีการฟื้นตัวในปีหน้า


วันนี้ ประมาณ 14.30 น. จับตาดูการแถลงการณ์ของประธานอีซีบี ECB (President Draghi Speaks)
และการประชุม ECOFIN Meetings โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการทางการเงิน

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• All Day ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ECOFIN Meetings)
• เวลา 13.45 น. ยอดดุลการค้าในฝรั่งเศส (French Trade Balance)
• เวลา 14.30 น. สุนทรพจน์ประธานธนาคารกลางยุโรป (President Draghi Speaks)
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอังกฤษ (Manufacturing Production)
• เวลา 21.00 น. ตัวเลขมุมมองเศรษฐกิจในสหรัฐฯ (IBD/TIPP Economic Optimism)

*** พรุ่งนี้ งดอัพเดทบล็อก ด้วยมีธุระ ***

8 ตุลาคม 2555

Eurogroup Meetings

สัปดาห์ที่ผ่านมา...ภาพรวมตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดี
ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามาตรการ QE3 อาจสั้นลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์
โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. ประกาศออกมาเพิ่มขึ้นเกินคาด
รวมทั้งอัตราการว่างงานก็ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากเกิดวิกฤติซับไพรม์
จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยหนุนความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

กระนั้น ก็มีนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขว่างงานดังกล่าว
ด้วยเป็นที่ทราบกันว่านี่อาจเป็นตัวเลขการเมือง เพราะอยู่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ
ทำให้เกิดคำถามเซ็งแซ่ว่ามีการตกแต่งตัวเลขดังกล่าวหรือไม่ เพื่อผลต่อคะแนนเสียง

วันนี้คงต้องจับตาดูทางยุโรปเป็นสำคัญ 
เพราะเป็นวันที่กองทุนช่วยเหลือ ESM จะมีผลทางกหมายเป็นวันแรก
ทั้งบอร์ดกอง
ทุนจะมีการประชุมกันในวันนี้เช่นกัน 

นอกจากนี้ยังมีการประชุม รมว.คลังของกลุ่ยุโรป (Eurogroup Meetings) ในวันนี้ด้วย
แต่มีกระสที่คาดว่าจะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับประเทศสเปนและกรีซออกมาในวันนี้
เนื่องจากค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าสเปนจะยังไม่ขอความช่วยเหลือในระยะสั้น
ขณะกรีซยังต้องการเวลาอีกสองสามสัปดาห์ในการเจรจากับเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย (Troika) เกี่ยวกับเงื่อนไขการรัดเข็มขัด
เพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหนี้ยอมตกลงจ่ายเงินช่วยเหลืองวดใหม่
โดย นายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส เผยว่า กรีซจะไม่มีเงินบริหารประเทศ
เพราะรัฐบาลกรีซเหลืองบประมาณสำหรับใช้ในการบริหารประเทศได้จนถึงเดือนเดือนพ.ย. เท่านั้น
ทั้งย้ำว่ารัฐบาลไม่อาจร้องขอให้ประชาชนยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่เป็นอยู่
พร้อมกับยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ประเทศของตนใกล้ที่จะก้าวเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างสิ้นเชิงแล้ว
“ที่ผ่านมา เราได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วเพื่อตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐและการขาดดุลงบประมาณ
มาตรการรัดเข็มขัดขนานใหญ่ที่เราบังคับใช้กับประชาชนของเราก่อนหน้านี้
มันไม่ต่างอะไรกับบาดแผลที่ลึกจนถึงกระดูกของเราแล้ว ซึ่งหมายความว่า
เราคงจะไม่สามารถออกมาตรการรัดเข็มขัดใดๆเพิ่มเติมได้อีก” ซามาราสกล่าว

เมื่อวานนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้พูดถึงโครงการซื้อพันธบัตรรอบใหม่เป็นนัยๆ ว่า
อีซีบีจะหยุดโครงการ OMT ทันที เมื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แล้ว
หรือจะหยุดหากประเทศนั้นๆ ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือตามโครงการนี้
ทั้งนี้ นายดรากีพูดชัดเจนว่าตอนนี้อีซีบีพร้อมที่เริ่มดำเนินโครงการ OMT แล้ว
แต่ก็ต้องรอให้รัฐบาลของประเทศที่มีปัญหามีการร้องขออย่างเป็นทางการก่อน
ซึ่งสเปนถูกมองว่าเป็นประเทศที่น่าจะเข้าโครงการนี้มากที่สุด
ทว่าจนถึงตอนนี้ สเปนก็ยังไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศยูโรโซนอย่างเป็นทางการ

ด้าน นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า
สหภาพยุโรป (EU) ควรมีงบประมาณที่แยกกันสำหรับยูโรโซนและประเทศนอกกลุ่มยูโรโซน
โดยระบุว่าเขาจะคัดค้านงบประมาณใหม่ของอียู หากจำเป็น หรือมีการเสนอให้เพิ่มงบประมาณขึ้นอย่างมาก
หรือว่าหากมีการเดินหน้าข้อตกลงที่ไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม
นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังเสริมอีกว่าประเทศต่างๆ ไม่สามารถจะทุ่มเงินให้กับอียูได้อีกต่อไป
ขณะที่ต้องปรับลดงบประมาณภายในประเทศของตัวเอง


 การประชุมที่ต้องติดตามทางฝั่งยุโรป
•  8 ต.ค. ประชุมรมต.คลัง 17 ชาติที่ใช้เงินสกุลยูโร/
ประชุมระหว่างประธานยูโรกรุ๊ปกับบอร์ดกองทุน ESM
•  9 ต.ค. ประชุมรมต.คลัง 27 ชาติสมาชิกยูโร
(ปธ.อีซีบีแถลงเปิดประชุม)/นายกเยอรมันเยือนกรีซ
10 ต.ค. ปธน.สเปนกับฝรั่งเศสพบปะพูดคุยกันที่ปารีส
11 ต.ค. ประชุมกลุ่ม G7 เรื่องวิกฤติหนี้ยุโรป
12-14 ต.ค. ประชุมรายครึ่งปีของ IMF และธนาคารโลก


ตัวเลขเศรษฐกิจในวันนี้
- ไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ

5 ตุลาคม 2555

ค่ำนี้ ข่าวนอน-ฟาร์ม

และแล้วสกุลเงินยูโรกับปอนด์ก็ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ​เมื่อคืนนี้ (4 ต.ค.)
หลังผล​การประชุมของธนาคารกลางยุ​โรป (ECB) ​โดย นายมาริ​โอ ดรากิ ในฐานะประธานอีซีบี​
ได้แถลงยืนยันถึงความพร้อมที่จะรักษาเสถียรภาพของเงินสกุลยูโรต่อไป
แต่ก็คาดว่า​การขยายตัวของยู​โร​โซนจะยังคงอ่อน​แอ ​โดย​เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อย​เป็นค่อย​ไป
พร้อมระบุว่า​แผน​การซื้อพันธบัตร​ได้ช่วยคลาย​ความตึง​เครียด​ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายดรากิยังกล่าวอีกว่าอีซีบีพร้อมที่จะดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรรอบใหม่ (OMT) อย่างเร็วที่สุด
หลังจากบรรลุเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วนแล้ว และยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ต่อไป

เมื่อวาน สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง​ หลังจากประธาน ECB ​แสดง​ความคิด​เห็นที่​เป็นปัจจัยบวกต่อยู​โรโซน
อีกทั้งดอลลาร์ยัง​เผชิญ​แรงกดดันหลังจากรายงาน​การประชุมครั้งล่าสุดของ​เฟด​ซึ่งบ่งบอกว่า​
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มี​ความ​เห็นพ้องกัน​โดยทั่ว​ไปว่า
จำ​เป็นต้องมีมาตร​การกระตุ้น​เศรษฐกิจ​เพิ่ม​เติม​เพื่อหนุน​การฟื้นตัวทาง​เศรษฐกิจที่​เปราะบาง


ด้านสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศขยับเพิ่มขึ้นเกินคาดเมื่อวันก่อน
ตามมาด้วยประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 4,000 รายเมื่อคืนวานนี้
บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ในทางบวกต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (นอน-ฟาร์ม)
และอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ ในช่วงค่ำวันนี้
ซึ่งตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.20 แสนตำแหน่ง และการว่างงานน่าจะทรงตัวที่ 8.1% ต่อไป

ส่วนในฝั่งยุโรปนั้น เมื่อวานสเปนประมูลพันธบัตร 3 ชุด มูลค่ารวม 4 พันล้านยูโรได้ตามที่คาด
โดยดอกเบี้ยของพันธบัตรทุกชุดยังลดลงจากการประมูลก่อนหน้าด้วย
ขณะธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประกาศมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์ต่อไป
แถมคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ตามความคาดหมาย

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 16.00 น. ผลผลิตมวลรวม (จีดีพี) ยูโรโซน (Final GDP)
• เวลา 17.00 น. ยอดสั่งซื้อภาค​การผลิต​ในเยอรมนี (German Factory Orders)
• เวลา 19.30 น. ตัว​เลข​การจ้างงานนอกภาค​เกษตร​ของสหรัฐฯ (Non-Farm Employment Change)
• เวลา 19.30 น. อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ (Unemployment Rate)

4 ตุลาคม 2555

วันนี้ การประชุม ECB

นักลงทุนยังมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในมุมมมองที่เป็นลบ
แม้นว่าเมื่อวาน ตัวเลขดัชนีภาคบริการที่ขยายตัวและยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่ดีกว่าคาดของสหรัฐฯ
พอจะสร้างบรรยากาศการลงทุนได้บ้าง แต่ก็ยังถูกถ่วงด้วยข้อมูล PMI ที่อ่อนแอลงของยุโรปและจีน
ดูเหมือนตลาดกำลังรอการประกาศตัวเลข Non-Farm Payrolls ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้
โดยขณะนี้ไม่มีใครต้องการลงทุนไปทางใดทางหนึ่งมากๆ ด้วยต่างก็รอข่าวเพื่อเป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาด
และหวังว่าการประกาศตัวเลขในวันพรุ่งนี้จะนำมาซึ่งความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

ทางด้านยุโรป นายมาเรียโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีของสเปน
ยังคงปฏิเสธที่จะร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากอีซีบี
ทั้งนี้หากสเปนถูกดาวน์เกรดโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือการลงทุนอย่างมูดี้ส์
นั่นอาจเป็นการบังคับให้รัฐบาลสเปนจำต้องขอความช่วยเหลือในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ขณะที่ตัวแทนจากไอเอ็มเอฟเปิดเผยความเห็นว่าเศรษฐกิจโลกอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยสิบปี
จึงจะฟื้นจากวิกฤติที่เริ่มตั้งแต่ปี 2008 ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดต่างๆ



วันนี้ ฝั่งยุโรปจะมีปัจจัยให้ต้องติดตามได้แก่
การประชุม ECB ในการกำหนดนโยบายการเงิน
ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 0.75%
ทั้งจะไม่มี Surprise อะไรออกมาอีก
แม้ว่าอาจมีการจับตาอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษกว่าปกติ

 


ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้
• เวลา 18.00 น. ประกาศอัตราดอกเบี้ยอังกฤษ (Official Bank Rate)
• เวลา 18.45 น. ประกาศอัตราดอกเบี้ยยูโรโซน (Minimum Bid Rate)
• เวลา 19.30 น. ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB Press Conference)
• เวลา 19.30 น. ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯ (Unemployment Claims)
• เวลา 21.00 น. ยอดสั่งซื้อของโรงงานในสหรัฐฯ (Factory Orders)
• เวลา 01.00 น. ผลการประชุม FOMC (FOMC Meeting Minutes)
โดยจะเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดจากเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ซึ่งมีการประกาศ QE3 ไปแล้ว
คาดว่าผู้กำหนดนโยบายจะยังให้เหตุผลสนับสนุนการทำมาตรการกระตุ้นดังกล่าว

3 ตุลาคม 2555

ฟอเร็กซ์ 3 ตุลา

เมื่อวาน...ไม่ได้มาอัพเดทบล็อก ด้วยมีธุระเรื่องงาน
คาดว่าต่อๆ ไปคงเหลวไหลหรือห่างหายไปอีก จึงต้องบอกเนิ่นๆ และขออภัยล่วงหน้า

สัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างยังจับตาว่าสเปนจะตัดสินใจขอรับความช่วยเหลือเมื่อใด
รวมถึงการรอดูข้อมูลภาคการจ้างงานนอกภาคเกษตร (นอน-ฟาร์ม) ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ด้วย
เพราะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เฟดใช้ในการดำเนินมาตรการ QE

แน่นอนว่า ณ ตอนนี้ ตลาดต่างๆ ได้กลับมากังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจของสเปนอย่างมิได้นัดหมาย
หลังนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอยของสเปน ได้ออกมาเปิดเผยว่า
สเปนจะยังไม่ขอความช่วยเหลือทางการเงินในสัปดาห์นี้
โดยฝ่ายบริหารของเขาจะชะลอการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวออกไปอีก
ซึ่งจากประเด็นนี้ทำให้ตลาดมีความกังวลว่า
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศจะลดอันดับความน่าเชื่อถือสเปนหรือไม่
โดยการพิจารณาทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนจะเสร็จสิ้นลงภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้


ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ออกมาคาดการณ์ว่า
ภาคธนาคารสเปนต้องการเม็ดเงิน 7 หมื่นล้านยูโร
ซึ่งสูงกว่ารายงานผลการทดสอบภาวะวิกฤติวันก่อนที่ 5.93 หมื่นล้านยูโร
โดยเงินจำนวนดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจยุโรป
อีกทั้งอาจมีการปรับลดอันดับเครดิตสเปนลงในไม่กี่วันนี้ด้วย

"คนรอดูข่าวดีเรื่องสเปน เมื่อไหร่ที่สเปนขอความช่วยเหลือทางการเงิน
ก็จะทำให้ยูโรที่ร่วงลงมาดีดตัวขึ้นได้" นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวไว้
หากสเปนพร้อมที่จะรับเงินช่วยเหลือจากยุโรป ก็จะเป็นผลดีต่อค่าเงินยูโรเอง
และต้นทุนการกู้ยืมเงินของสเปนก็จะต่ำลง เพราะธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะเข้าซื้อพันธบัตรของสเปน

เรื่องที่ควรติดตาม...
 4 ต.ค. ธนาคารกลางยุโรปประชุม (ECB Press Conference)
 8 ต.ค. ประชุมระหว่างประธานยูโรกรุ๊ปกับกองทุน ESM
11 ต.ค. ประชุม G7 เรื่องวิกฤติหนี้ยุโรป

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
•  เวลา 14:15 น. ดัชนีภาคบริการของสเปน (Spanish Services PMI)
•  เวลา 14:45 น. ดัชนีภาคบริการของอิตาลี (Italian Services PMI)
•  เวลา 15:00 น. ดัชนีภาคบริการในยูโรโซน (Final Services PMI)
•  เวลา 15:30 น. ดัชนีภาคบริการของอังกฤษ (Services PMI)
•  เวลา 16:00 น. ยอดค้าปลีกกลุ่มยูโรโซน (Retail Sales)
•  เวลา 19.15 น. ตัวเลขการจ้างงงานของสหรัฐฯ (ADP Non-Farm Employment Change)
•  เวลา 21.00 น. ตัวเลขภาคการผลิตในสหรัฐฯ  (ISM Non-Manufacturing PMI)
•  เวลา 21.30 น. ตัวเลขสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ (Crude Oil Inventories)

1 ตุลาคม 2555

ห้าทุ่มครึ่ง...ประธานเฟดกล่าวสุนทรพจน์

คู่เงิน EU และ GU ถูกกดต่ำลงจากวันศุกร์จนต่อเนื่องถึงเช้าวันนี้
ขณะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นตามระเบียบ
(แอบดู MACD กับ Stoch ที่ไทม์เฟรม Week เพราะไม่ได้เฝ้าหน้า MT4 ตลอด)

ซึ่งปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และวิกฤติหนี้ยุโรปยังไม่น่าวางใจเท่าไหร่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของสเปนที่ดูจะเป็นจุดโฟกัสและน่าติดตามอย่างใกล้ชิด
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสเปนเตรียมขอรับความช่วยเหลือในปลายเดือนนี้
อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) ของสเปน
ซึ่งต้องระดมทุนและอัดฉีดเงินสูงถึง 6 หมื่นล้านยูโรทีเดียว
ขณะที่ภาครัฐฯ ได้เคยให้ความเห็นไว้แล้วว่าต้องการเงินช่วยเหลือเพียง 4 หมื่นล้านยูโรเท่านั้น
กอปรกับรายงานงบประมาณของสเปนยังแสดงให้เห็นว่าระดับหนี้สินยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นในปีหน้าอีกด้วย
ทำให้เรื่องการเงินของสเปนทั้งหมดกลับมาเป็นประเด็นการเก็งกำไรในทางลบอย่างมิอาจเลี่ยง
พร้อมกับมีการคาดการณ์ว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสอาจตัดสินใจปรับอันดับเครดิตของสเปน
โดยสเปนอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกลดอันดับลงสู่ระดับขยะ

เดือนตุลาคมนี้ อาจเป็นเดือนที่ตลาดเงินมีโอกาสจะผันผวนได้จากปัจจัยดังนี้...
• วันที่ 8 ต.ค. คณะกรรมการกองทุน ESM จะประชุมเป็นนัดแรก
ซึ่งน่าจะมีการพูดคุยเรื่องการเพิ่มทุนให้ธนาคารสเปนและการเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดแรกด้วย
•  วันที่ 8-9 ต.ค. การประชุมรมว.คลังยุโรป
•  วันที่ 18-19 ต.ค. การประชุม EU Summit
•  หนี้ยุโรปหลายประเทศถึงครบกำหนดชำระ
•  การเลือกตั้งของหลายแคว้นภายในสเปนซึ่งขู่จะแยกตัว

Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐ

วันนี้ เวลา 23.30 น. Fed Chairman Bernanke Speaks
นายเบน เบอร์นันเก ประธานเฟด จะมีการกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ
 “5 คำถามเกี่ยวกับเฟดและนโยบายการเงิน”
โดยจะกล่าวเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ด้วยมาตรการ QE3 ในรัฐอินเดียนาโปลิส
ซึ่งจะมีการตอบคำถามจากผู้ฟัง ซึ่งคำพูดของเขาอาจเป็นสาเหตุของความผันผวนในตลาด

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้
• เวลา 14.45 น. การจัดการจัดซื้อภาคการผลิตของอิตาลีรายเดือน (Italian Manufacturing PMI)
• เวลา 15.00 น. อัตราการว่างงานในอิตาลีรายเดือน(Italian Monthly Unemployment Rate)
• เวลา 15.30 น. ตัวเลขภาคการผลิตในอังกฤษ (Manufacturing PMI)
• เวลา 16.00 น. อัตราการว่างงานในยูโรโซน (Unemployment Rate)
• เวลา 21.00 น. ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI)