ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันพุธ (12 ธ.ค.)
ได้ประกาศใช้อัตราการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อ
มาเป็นเงื่อนไขกำหนดแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
ซึ่งถือเป็นมาตรการใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยทำกันมาก่อน
ขณะเดียวกัน เฟดยังคลอดโปรแกรมรับซื้อพันธบัตรคลังรอบใหม่
ซึ่งก็คือการดำเนินการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพื่อมุ่งกระตุ้นการเติบโตต่อไปอีก
ทั้ง
นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้ออกมาเตือนนักการเมืองให้รีบเร่งผ่าทางตัน “
หน้าผาการคลัง”
ในความพยายามที่จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายให้มีความชัดเจนมากขึ้น
หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟดฟันด์เรต)
ได้ตรึงอยู่ที่ระดับต่ำเตี้ยติดดิน 0 - 0.25% มาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว
เฟดแถลงว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ตราบเท่าที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่า 2.5%
และอัตราการว่างงานยังอยู่เหนือ 6.5% โดยที่ในปัจจุบันอัตราการว่างงานสหรัฐฯ อยู่ที่ 7.7%
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี)
ซึ่งประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันว่ายังคงเติบโตได้ในระดับพอประมาณเท่านั้น
ก็ได้ริเริ่มโปรแกรมซื้อพันธบัตรคลังระยะยาวครั้งใหม่ในปริมาณเดือนละ 45,000 ล้านดอลลาร์
เพื่อใช้แทนที่โปรแกรม “โอเปอเรชัน ทวิสต์” ที่จะหมดอายุลงสิ้นปีนี้
ปฏิบัติการล่าสุดจะทำให้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE)
ทั้งหมดที่เฟดดำเนินการอยู่มีมูลค่าเท่ากับเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์
โดยตามมาตรการเหล่านี้มีทั้งการรับซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลัง และหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน
ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือการดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลงมา จะได้ส่งเสริมเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุน
“เอฟโอเอ็มซียังคงกังวลว่า หากปราศจากการผ่อนคลายทางนโยบายการเงินเพียงพอ
การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะหนุนนำการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในตลาดแรงงาน” เฟดอธิบายเอาไว้ในคำแถลงซึ่งออกมาภายหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีเป็นเวลาสองวัน
นายเบอร์นันเก้กล่าวในการแถลงข่าวหลังประชุมเอฟโอเอ็มซีโดยย้ำว่า
ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตต่อไปในระดับพอประมาณ แต่ยังถูกเหนี่ยวรั้งด้วยอัตราว่างงานสูง
ซึ่งทำให้ศักยภาพของมนุษย์ตลอดจนเศรษฐกิจต้องสูญเปล่าไปอย่างมหาศาล
เบอร์นันเก้ยังเตือนว่า รัฐสภาและทำเนียบขาวต้องเร่งหาทางคลี่คลายวิกฤตหน้าผาการคลัง Fiscal Cliff
ที่อาจดันเศรษฐกิจอเมริกากลับสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า
พร้อมย้ำว่า แนวโน้มของภาวะหน้าผาการคลังจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ
รวมทั้งการตัดสินใจจ้างงานแล้ว จากการสร้างบรรยากาศของความไม่แน่นอนและการมองโลกแง่ลบ
“ผมหวังว่ารัฐสภาจะทำในสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องหน้าผาการคลัง ปัญหากำลังใกล้จะเกิดขึ้นทุกขณะ
และเฟดไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากภาวะหน้าผาการคลังได้ เพราะนั่นเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก"
เบอร์นันเก้กล่าว
ขณะที่เหลือเวลาอีกประมาณสองสัปดาห์ก็จะถึงวันที่ 1 มกราคม 2013
คือเส้นตายการขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ หรือภาวะ “
หน้าผาการคลัง”
แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครตกับสมาชิกสภาของรีพับลิกัน ยังประนีประนอมกันไม่ได้
"ท่านประธานาธิบดีต้องการอวดอ้างว่าการใช้จ่ายไม่มีปัญหา
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรายังถึงตกลงกันไม่ได้" นายจอห์น โบเนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พรรครีพับลิกันกล่าวต่อสื่อมวลชน
และความเห็นนี้เองที่ก่อความกังวลต่อนักลงทุนไม่น้อย
แต่นักวิเคราะห์มองว่าการออก QE4 ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านต่อเดือน
จะส่งผลให้ทิศทางดอลล่าร์สหรัฐฯ มีการอ่อนค่าลงต่อและหนุนราคาทองคำในระยะต่อไป
โดยสัปดาห์ที่จะถึงนี้ต้องจับตาผลการเลือกตั้งญี่ปุ่น หากพรรค LDP ได้รับเสียงข้างมาก
อาจทำให้ BOJ ถูกกดดันให้ผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น
[การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) โดยคาดกันว่า
พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ “แอลดีพี” (Liberal Democratic Party; LDP)
จะได้ชัยชนะกลับมาเป็นพรรครัฐบาลอีกครั้ง]
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซนนั้น
ล่าสุดนายปิแอร์ มอสโควิซี รมว.คลังฝรั่งเศส กล่าวว่า
บรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกลไกกำกับดูแลภาคธนาคารที่เป็นหนึ่งเดียว
ร่วมกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว
โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นหลังการประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (อียู)
ได้ยืนยันรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าอียูได้ดำเนินการก้าวแรกที่มีความสำคัญในการจัดตั้งสหภาพการธนาคาร
ทางด้านกรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ยุโรปในสัปดาห์หน้าเป็นจำนวนเงินเกือบ 5 หมื่นล้านยูโร
เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ทำให้ต้องออกจากยูโรโซน